ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพลเปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นคนอีสานกับการเลือกตั้ง สส. ครั้งหน้า" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2561 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,100 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า การจัดเลือกตั้ง สส. ช่วงใดเหมาะสมที่สุด พบว่า อันดับหนึ่งร้อยละ 45.0 เห็นว่าควรจัดเลือกตั้ง ส.ส. ในช่วง ม.ค-เม.ย. 62 รองลงมาร้อยละ 36.9 ควรจัดช่วง ก.ย.-ธ.ค. 61 ซึ่งทำให้ช่วงปลายปี 61 ถึงต้นปี 62 เป็นช่วงที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าเหมาะสมสูงถึงร้อยละ 81.9 ขณะที่ร้อยละ 13.2 เห็นว่าควรจัดช่วง พ.ค.-ส.ค. 62 ร้อยละ 3.7 ควรจัดช่วง ก.ย.-ธ.ค. 62 และมีเพียงร้อยละ 1.2 ควรจัดช่วงปี 63 หรือนานกว่านั้น
เมื่อสอบถามถึงเหตุผลสำคัญที่สุดที่ใช้ในการเลือกผู้สมัคร สส. พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 59.6 พิจารณาจากคุณสมบัติและผลงานของผู้สมัคร รองลงมาร้อยละ 27.7 เลือกเลือกผู้สมัครจากการสังกัดพรรคที่ชอบ ตามมาด้วย ร้อยละ 8.5 เลือกผู้สมัครที่บุคคลที่เคารพนับถือแนะนำให้ และร้อยละ 4.2 เลือกผู้สมัครที่คุ้นเคยหรือเคยได้รับความช่วยเหลือจากผู้สมัคร
เมื่อสอบถามถึงแนวโน้มที่จะเลือกผู้สมัคร สส. แบบใด พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 57.2 จะเลือกนักการเมืองประสบการณ์สูง รองลงมา ร้อยละ 17.4 เลือกนักธุรกิจประสบการณ์สูง ตามมาด้วย ร้อยละ 11.2 เลือกนักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรง ร้อยละ 4.8 เลือกอดีตข้าราชการพลเรือน ร้อยละ 4.0 เลือกนักวิชาการ/ที่ปรึกษา ร้อยละ 2.8 เลือกอดีตทหาร/ตำรวจ ร้อยละ 2.1 เลือกแกนนำมวลชน และอื่นๆ ร้อยละ 0.5
เมื่อสอบถามว่ามีพรรคการเมืองที่มีแนวโน้มจะสนับสนุนแล้วหรือยัง พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.4 มีพรรคที่จะสนับสนุนแล้ว ร้อยละ 3.1 จะไม่เลือกพรรคใด และร้อยละ 37.5 ยังไม่ตัดสินใจ
เมื่อสำรวจความคิดเห็นว่าหากมีการจัดมหรสพในช่วงหาเสียงต้องการรับชมนักร้องหรือหมอลำคณะใดมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 24.6 ไม่อยากรับชมหรือไม่สนใจดูทั้งนักร้องและหมอลำ ขณะที่ในกลุ่มที่อยากรับชมมหรสพ พบว่า สามอันดับแรกซึ่งมีความนิยมเท่ากันหรือร้อยละ 6.5 ประกอบด้วย ต่าย อรทัย หมอลำประถมบันเทิงศิลป์ และหมอลำระเบียบวาทะศิลป์ ตามมาด้วยร้อยละ 6.1 อยากดู ลำไย ไหทองคำ ร้อยละ 5.8 อยากดูหมอลำเสียงอีสาน ร้อยละ 4.4 ไมค์ ภิรมย์พร ร้อยละ 3.4 ก้อง ห้วยไร่ ร้อยละ 3.3 ตูน บอดี้แสลม เป็นต้น
ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 4% ประกอบด้วยเพศหญิงร้อยละ 52.8 เพศชายร้อยละ 47.2
ด้านอายุ ช่วงอายุ 18-25ปี ร้อยละ 8.1 อายุ 26-35 ปีร้อยละ 25.3 อายุ 36-45 ปีร้อยละ 36.2 อายุ 46-55 ปีร้อยละ 19.2 อายุ 56-60 ปี ร้อยละ 5.5 และอายุตั้งแต่ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 5.7
ส่วนระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 25.1 ระดับ รองลงมาประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 21.3 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ร้อยละ 19.7 ระดับปริญญาตรี ร้อยละ 19.7 ระดับอนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 9.8 และระดับสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 4.4
ด้านอาชีพ ประกอบอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 41.5 รองลงมาผู้ใช้แรงงานและลูกจ้างในสถานประกอบการ ร้อยละ 14.1 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 11.7 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 9.8 รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.6 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 6.4 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 5.5 และอื่นๆ ร้อยละ 1.4
ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 17.3 รายได้ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 33.3 รายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 19.6 รายได้ 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 12.4 รายได้ 20,001-40,000 ร้อยละ 13.4 และรายได้มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 4.1
หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้วความคิดเห็นอื่นๆ ในผลสำรวจนี้เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit