เมล็ดพันธุ์การเรียนรู้: งอกงาม เติบโต ผลิบาน ชุมชนคือต้นทาง สรรค์สร้างนวัตกรรม

23 May 2018
นักศึกษาปี 2 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอผลงานนวัตกรรมสังคมจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงตลอดปีการศึกษาในพื้นที่ชุมชน 4 แห่ง โดยมีทั้งตัวแทนจากชุมชน นักศึกษาจากคณะต่างๆ และผู้ที่สนใจ เข้าร่วม ณ อาคารสิริวิทยลักษณ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ เมื่อวันที่ 16พฤษภาคม 2561 โดยการจัดการเรียนการสอนของคณะฯ ตลอดชั้นปีที่ 2 นักศึกษาจะได้เรียนรู้โดยมีชุมชนเป็นฐาน ทั้งศึกษาพื้นที่ เรียนรู้และทำงานร่วมกับผู้คนในชุมชน 4 พื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและภาคกลาง คือ ชุมชนตลาดน้อย ชุมชนย่านบางกระเจ้า ชุมชนคลองเตย และชุมชนดอนโตนด จ.สิงห์บุรี โดยท้ายสุดแล้ว นักศึกษาแต่ละพื้นที่จะสร้างสรรค์ผลงานโครงการนวัตกรรมการเรียนรู้และนำไปปฏิบัติจริงในชุมชน
เมล็ดพันธุ์การเรียนรู้: งอกงาม เติบโต ผลิบาน ชุมชนคือต้นทาง สรรค์สร้างนวัตกรรม

ภายในงานมีการ เล่าเรื่องการทำงานโครงการ โดยตัวแทนนักศึกษาจากพื้นที่ต่าง ๆ การเสวนา เสียงจากชุมชน เพื่อฟังเสียงสะท้อนจากตัวแทนชุมชนในรายการ และนิทรรศการ "งอกงาม ผลิบาน เติบโต" ซึ่งนำเสนอภาพรวมการทำงานโดยเน้นมิติการเรียนรู้ที่ตระหนักและเน้นความสำคัญของการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้เรื่องเล่าจากประสบการณ์ของนักศึกษาและเสียงสะท้อนจากตัวแทนชุมชน ได้ชี้ให้เห็นว่า การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงในการทำงานร่วมกับชุมชนนั้นไม่ง่าย นักศึกษาจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้วยเครื่องมือที่สร้างทักษะและเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานชุมชน เช่น การเก็บข้อมูล สังเกต สัมภาษณ์ สืบค้น ตีความ การเชื่อมโยง หรือแม้แต่การใช้กระบวนการละครเพื่อเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงหรือสะท้อนข้อมูลชุมชน

กระบวนการทำงานของนักศึกษาปี 2 เริ่มต้นจากการเรียนรู้กับผู้ที่ทำงานด้านการขับเคลื่อนสังคม อาทิ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ณ พื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ฝึกหัดที่นักศึกษาได้ฝึกการใช้เครื่องมือในชุมชนรูปแบบต่าง ๆ และเมื่อนักศึกษาเข้าสู่พื้นที่การทำงานจริงใน ๔ พื้นที่ นักศึกษาได้ประยุกต์ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในชุมชนอย่างเหมาะสม ผ่านความพยายามทำความเข้าใจผู้คนจากบริบทชุมชนมากที่สุด จนได้รับเสียงสะท้อนจากตัวแทนพื้นที่ต่าง ๆ ว่าแต่ละโครงการก่อกำเนิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนและนักศึกษา เป็นการเสริมพลังชุมชนจากศักยภาพทั้งของคนในชุมชนและนักศึกษา มากกว่าการทำโครงการด้วยกรอบคิดว่าต้องเข้าไปพัฒนาเพื่อช่วยเหลือ

"นักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานชุมชนด้วยการฟังเสียงจากชุมชนมากกว่าการคิดแบบเบ็ดเสร็จเพื่อให้ชุมชนพัฒนาตามแบบสำเร็จตามการทำงานชุมชนทั่ว ๆ ไป" คุณเพ็ญวดี แสงจันทร์ ผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีป ตัวแทนจากชุมชนคลองเตยกล่าวถึงการทำงานของนักศึกษาซึ่งทำโครงการด้านการออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ทักษะการเงินให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ จนเป็นที่นิยมในหมู่เด็กๆในชุมชนคลองเตย

ทางด้านการทำงานของนักศึกษาในพื้นที่หมู่บ้านดอนตะโหนด จ.สิงห์บุรี ผู้ใหญ่บ้านเอกศักดิ์ ทองคำ สะท้อนว่า "ผมเห็นพัฒนาการการลงพื้นที่ของนักศึกษา โครงการเรื่องเล่าดอนตะโหนด เปิดโหมดการท่องเที่ยว ของนักศึกษาเป็นโครงการที่นักศึกษาได้ประยุกต์ความรู้เข้ากับทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่ชุมชนมีอยู่ ดังนั้น โครงการที่เกิดขึ้นจึงเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักศึกษากับชุมชนอย่างแท้จริง"

ข้อคิดเห็นจากชุมชนสอดคล้องกับพันธกิจทางการศึกษาของคณะฯ อาจารย์ ดร.ลินดา เยห์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาตรี กล่าวถึงหลักสูตรของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ว่าทางคณะฯ พยายามสร้างคนทำงานด้านการเรียนรู้ด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ตระหนักและเน้นความสำคัญของการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา "เราเน้นกระบวนการเรียนรู้ให้นักศึกษามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมหรือบริบทรอบข้าง เพื่อนำไปสู่ความสัมพันธ์กับการถ่ายโอนความรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ ที่ส่งผลต่อทักษะการเรียนรู้ภายใต้สภาวะจริงแท้ ด้วยการสัมผัส การรับรู้ การเข้าถึง และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งจากประสบการณ์ตรง" อาจารย์ ดร.ลินดา เยห์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีงาน "เปิดม่านชุมชน เปิดตัวตน LSEd" ซึ่งเป็นเวทีในการสะท้อนการเรียนรู้ผ่านชุมชนตลอด ๑ ปีที่ผ่านมา เพื่อบอกเล่าและถ่ายทอดประสบการณ์สู่นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ที่กำลังจะเดินตามรอยรุ่นพี่ต่อไป

ตัวแทนนักศึกษาจากกลุ่มตลาดน้อย "มะปราง" ปิยธิดา ชินราช สะท้อนการเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนในคณะที่ตนเองและเพื่อนๆได้นำไปใช้จริงในการทำโครงการ "ตอนที่เรียนชั้นปีที่ ๑ เราได้รับเครื่องมือที่จะใช้ในการลงชุมชนซึ่งเป็นทักษะต่าง ๆ โดยเฉพาะความเข้าใจเรื่องโครงสร้างทางสังคม เป็นข้อสำคัญที่ได้นำมาใช้มาก ๆ ส่วนตอนเรียนปี ๒ เราต้องลงสัมผัสชุมชนจริง ๆ ทั้งนี้เพราะต้องทำความเข้าใจชุมชนมีความซับซ้อนและความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นประสบการณ์ตรงทำให้เราสามารถอธิบายสิ่งที่เจอได้ สามารถวิพากษ์ได้ไม่ใช่แค่หลงใหลว่าชุมชนนี้สวยน่าอยู่ ส่วนทักษะอื่นๆ ก็ยังได้ฝึกฝน เช่น การตั้งคำถาม การกล้าแสดงออก หรือทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า"

ในขณะที่ "พิงค์" ภัทรภรณ์ กำธรเจริญ ตัวแทนนักศึกษาจากกลุ่มชุมชนคลองเตย กล่าวถึง หัวใจของการศึกษาปัญหาชุมชนว่าคือการเน้นเรื่องการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน "กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องแก้ปัญหานั้นได้จริง ๆ เพราะปัญหานั้นมันอาจมีมานาน แต่ละปัญหาล้วนมีรากและส่งผลกระทบถึงอะไรหลายอย่างซึ่งเราไม่สามารถเข้าไปแก้ไขได้ภายในเวลาสั้น ๆ ดังนั้นความสำคัญของการศึกษาปัญหาชุมชน คืออยู่ที่ว่าระหว่างทางที่ทำงานร่วมกันนั้นเราได้เรียนรู้อะไรจากชุมชน ได้พิจารณาชุมชนอย่างที่ชุมชนควรจะเป็นอย่างไร และชุมชนได้เรียนรู้อะไรด้วยตัวของคนในชุมชนบ้าง"

จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงในการทำงานในพื้นที่จริงร่วมกับชุมชนของนักศึกษาคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ สะท้อนถึงการมองชุมชนเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ เป็นพื้นที่ไปทำงานจริงในพื้นที่จริง เห็นจริง สัมผัสจริง รู้สึกจริง ซึ่งเป็นการเรียนรู้โดยคำนึงถึงองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของรายบุคคล

หากเปรียบนักศึกษาเสมือนเมล็ดพันธุ์ของนักการเรียนรู้ นี่คงเป็นโอกาสที่ทำให้เมล็ดพันธุ์ได้เริ่มต้นที่จะงอกงามด้วยการรดน้ำพรวนดินอย่างใส่ใจ ได้เติบโตขึ้นอย่างกล้าแกร่ง และเริ่มผลิบานออกดอกออกผลอย่างสวยงาม พร้อมที่จะกลายเป็นต้นไม้แห่งการเรียนรู้ที่มั่นคงต่อไปในอนาคต

เมล็ดพันธุ์การเรียนรู้: งอกงาม เติบโต ผลิบาน ชุมชนคือต้นทาง สรรค์สร้างนวัตกรรม เมล็ดพันธุ์การเรียนรู้: งอกงาม เติบโต ผลิบาน ชุมชนคือต้นทาง สรรค์สร้างนวัตกรรม เมล็ดพันธุ์การเรียนรู้: งอกงาม เติบโต ผลิบาน ชุมชนคือต้นทาง สรรค์สร้างนวัตกรรม