นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป ของจีน มีความสนใจจะสั่งซื้อทุเรียนไทยส่งไปขายผ่านออนไลน์ในประเทศจีน พร้อมทั้งได้ประสานมายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อให้บริษัท Win Chain Supply Chain Management Co.LTD ซึ่งเป็นบริษัทจัดซื้อในเครือของอาลีบาบา เจรจาการค้าร่วมกับตัวแทนสหกรณ์ในจังหวัดระยอง จันทบุรีและตราด โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเพื่อให้เกิดการพบปะพูดคุยระหว่างกัน เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการหารือร่วมกันครั้งนั้น ตัวแทนของอาลีบาบาได้แจ้งความประสงค์ที่จะทำธุรกิจซื้อขายทุเรียนกับสหกรณ์โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และคาดหวังที่จะได้ผลไม้ที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน เพื่อทางบริษัทจะนำไปขายทางออนไลน์และร้านสะดวกซื้อที่เป็น เครือข่ายตั้งอยู่ในเมืองต่าง ๆ ของจีน
ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 21-23 พฤษภาคม นี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมด้วยกงสุล (ฝ่ายเกษตร) ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้นำผู้แทนของบริษัท อาลีบาบา ลงพื้นที่จังหวัดระยอง จันทบุรีและตราด เพื่อเยี่ยมชมกระบวนการผลิตผลไม้คุณภาพ GAP ซึ่งเริ่มตั้งแต่การบริหารจัดการในแปลงของสมาชิกสหกรณ์ จากนั้นได้ไปดูกระบวนการรวบรวมผลไม้ การคัดเกรด การบรรจุและขนส่งสินค้าของสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัดและสหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่มีศักยภาพในการรวบรวมผลไม้เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ทำให้ทางบริษัทเกิดความมั่นใจในกระบวนการผลิตผลไม้คุณภาพของสหกรณ์ เนื่องจากสหกรณ์มีวิธีการบริหารจัดการคุณภาพในระบบแปลงใหญ่มา ไม่น้อยกว่า 5 ปีและมีขั้นตอนในการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล ทางบริษัทจึงได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมด้านการกระจายผลไม้ออกสู่ตลาดจีน โดยขายผ่านออนไลน์เว็บ Tmall.com ในเครืออาลีบาบา นอกจากนี้ยังเก็บข้อมูลผลไม้ไทย เพื่อไปทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ ว่าเป็นผลไม้ที่ดีที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในประเทศจีนด้วย
"การเดินทางมาของตัวแทนบริษัทของอาลีบาบา กรุ๊ปในครั้งนี้ ได้มีการเจรจาการค้าร่วมกับกับสหกรณ์ 5 แห่ง ในภาคตะวันออก ได้แก่สหกรณ์นิคมวังไทร จำกัด สหกรณ์นิคมชุมแสงจันทร์ จำกัด จังหวัดระยอง สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด จังหวัดจันทบุรี สหกรณ์การเกษตรเขาสมิง จำกัด และสหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจการเกษตร จำกัด จังหวัดตราด โดยมีกรอบความร่วมมือซื้อขายผลไม้ 5 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะพร้าวและเสาวรส โดยในจำนวนดังกล่าวบริษัทต้องการเริ่มสั่งซื้อทุเรียนก่อนผลไม้ชนิดอื่น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มซื้อขายได้ในปีหน้า ปริมาณขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 3,000 ตันหรือ 800,000 ลูก ซึ่งสหกรณ์จะต้องส่งสินค้าถึงปลายทางไม่เกิน 7 วัน และทั้งสองฝ่ายจะยอมรับการสูญเสียของสินค้าไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณการส่งออกในแต่ละครั้ง ส่วนวิธีการชำระเงิน ทางบริษัทตกลงชำระเงินค่าสินค้าล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20% ของการทำสัญญาในแต่ละช่วง และเมื่อส่งมอบสินค้าแล้วทางบริษัทจะชำระเงินทั้งหมดทันที และสหกรณ์ยินดีให้บริษัทเข้ามาบริหารจัดการด้าน Logistics ตั้งแต่จุดรวบรวมของสหกรณ์ ซึ่งภายใต้ข้อตกลงร่วมกันนี้ จะมีการลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างตัวแทนของบริษัท อาลีบาบา กับสหกรณ์ในภาคตะวันออก ประมาณกลางเดือนมิถุนายน นี้ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit