"ทาเลส" เตรียมเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของรถไฟชานเมืองสายสีแดง

24 May 2018
  • ระบบ ETCS รับรองความปลอดภัยขั้นสูงสุด และเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารมากถึง 40% ให้แก่เครือข่ายรถไฟฟ้าสายแรกของการรถไฟแห่งประเทศไทย
  • นับเป็นโครงการติดตั้งระบบ ETCS ลำดับที่ 3 ในประเทศไทย

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้ประกอบกิจการรถไฟรายหลักของประเทศไทย เตรียมนำระบบควบคุมรถไฟของยุโรป (ETCS) มาใช้ เพื่อรับรองความปลอดภัยขั้นสูงสุดในการเดินรถ โดยในโอกาสนี้ ทาเลส (Thales) ได้เซ็นสัญญากับ นิปปอน ซิกนัล (Nippon Signal) เพื่อส่งมอบระบบ ETCS ให้แก่รถไฟชานเมืองสายสีแดงทั้ง 2 ส่วน รวมระยะทาง 41 กิโลเมตร

ระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง เป็นระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของรฟท. ที่มุ่งแก้ปัญหาการจราจรติดขัด และสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนจากการสัญจรบนท้องถนนมาเป็นรถไฟ คาดว่าระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงจะรองรับผู้โดยสารราว 131,000 คนต่อวัน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานคร ที่มุ่งพัฒนาระบบการขนส่งทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเป็นสายแรกที่บูรณาการเข้ากับเครือข่ายรางรถไฟเดิมของรฟท.

สำหรับสายสีแดงนั้น รถไฟฟ้าจะวิ่งคู่กับรถไฟโดยสารระยะไกล และประกอบด้วย 2 สายย่อย ได้แก่ สายเหนือ (รังสิต-บางซื่อ) และสายตะวันตก (บางซื่อ-ตลิ่งชัน)

ระบบ ETCS ของทาเลสรับรองมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงสุดในการเดินทางด้วยรถไฟตลอดเส้นทาง โดยรถไฟฟ้า 25 ขบวน และรถไฟธรรมดา 2 ขบวน จะได้รับการติดตั้งระบบ ETCS Level 1 รวมกันทั้งหมด 53 ยูนิต แต่สามารถปรับเปลี่ยนเป็น Level 2 ได้อย่างง่ายดายหากมีความจำเป็นในอนาคต รถไฟชานเมืองสายสีแดง 2 ส่วนที่ได้รับการติดตั้งระบบ ETCS นั้น ส่วนหนึ่งเป็นแบบ 4 ทาง และอีกส่วนเป็นทางคู่ สำหรับระบบอาณัติสัญญาณ รวมทั้ง ETCS Level 1 คาดว่าจะติดตั้งเสร็จในปี 2563

ทาเลสพร้อมสนับสนุนแผนการขยายการดำเนินงานของรฟท. และหวังที่จะยกระดับเทคโนโลยีและทักษะความเชี่ยวชาญที่มอบให้แก่อุตสาหกรรมการขนส่งของประเทศไทย ด้วยระบบอาณัติสัญญาณรถไฟที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนความรู้ที่สั่งสมมาจากการเป็นพันธมิตรกับนิปปอน ซิกนัล รวมถึงการติดตั้งระบบ ETCS ให้กับรฟท.ก่อนหน้านี้

นายทอมมี อายูตี กรรมการบริษัททาเลสประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ในขณะที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งเพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรในเขตเมือง ทาเลสก็เดินหน้าสานต่อความร่วมมือกับประเทศไทย หลังจากที่เราได้ให้ความร่วมมือในธุรกิจต่างๆมานานเกือบ 30 ปี เราขอสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการพัฒนาระบบรถไฟชานเมืองที่มีความแข็งแกร่ง ด้วยการส่งมอบระบบที่มีความปลอดภัยสูงสุดให้แก่รถไฟของรฟท. นอกจากนี้ เรายังตั้งตารอที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรสำคัญอย่างนิปปอน ซิกนัล เพื่อนำรถไฟสายสีแดงมาสู่คนไทย"

หมายเหตุถึงบรรณาธิการ:

เกี่ยวกับระบบควบคุมรถไฟของยุโรป ( ETCS)

เดิมทีระบบควบคุมรถไฟของยุโรป (ETCS) ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อยกระดับการทำงานร่วมกันของรถไฟทั่วยุโรป และผู้ประกอบกิจการรถไฟจากทั่วโลกก็นำเอาระบบนี้ไปใช้เช่นกัน ไม่ว่ารถไฟจะต้องเดินทางข้ามพรมแดนหรือไม่ก็ตาม

  • เพิ่มจำนวนรถไฟ: ระบบ ETCS ช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ถึง 40%
  • เพิ่มความน่าเชื่อถือ: การสื่อสารผ่านทางวิทยุ และโครงสร้างพื้นฐานที่ลดลง ทำให้ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นลดลงตามไปด้วย
  • เปิดตลาดซัพพลายเออร์: อุปกรณ์ที่ใช้บนรถไฟและตามรางรถไฟผลิตจากซัพพลายเออร์หลายเจ้าในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
  • มีผลต่อต้นทุนตลอดอายุการใช้งาน: การลดใช้อุปกรณ์ตามรางรถไฟ เช่น เสาสัญญาณ จะช่วยลดต้นทุนในการบำรุงรักษา

เกี่ยวกับทาเลส

ผู้คนมากมายที่ทั่วโลกไว้วางใจ ต่างให้ความไว้วางใจทาเลส ลูกค้าของเรามาใช้บริการด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าในการทำให้ชีวิตดีขึ้นและมีความปลอดภัยมากขึ้น วิศวกรของเราผสานความชำนาญ ความสามารถ และวัฒนธรรมการทำงานอันหลากหลายเข้าด้วยกัน เพื่อออกแบบและนำเสนอโซลูชั่นเทคโนโลยีระดับสูงที่ไม่เหมือนใคร โซลูชั่นที่จะทำให้สิ่งต่างๆในอนาคตเกิดขึ้นตั้งแต่วันนี้ จากใต้มหาสมุทรจนถึงห้วงอวกาศ เราช่วยให้ลูกค้าคิดอย่างชาญฉลาดและทำงานได้เร็วขึ้น ด้วยการจัดการกับความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้นและรับมือกับทุกช่วงเวลาสำคัญตลอดการทำงาน ทั้งนี้ ทาเลสมีพนักงาน 64,000 คน ใน 56 ประเทศ และมียอดขาย 1.58 หมื่นล้านยูโรในปี 2560

เกี่ยวกับทาเลสในประเทศไทย

ทาเลสได้เริ่มทำธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 90 และได้เปิดสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ ในปี 2548 สำหรับการดำเนินงานในประเทศไทยนั้น ทาเลสมีโครงการและผลงานสำเร็จมากมายทั้งในภาคพลเรือนและการป้องกันประเทศ โดยทาเลสได้ดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัทพันธมิตรสัญชาติไทยที่เกี่ยวกับด้านอากาศยาน การป้องกันประเทศ อวกาศ และการขนส่ง