พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในการแถลงข่าวว่าการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยจัดการแข่งขันครั้งแรกในปี 2538 จนถึงปัจจุบัน เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนและกำลังแรงงานในภูมิภาคอาเซียนเกิดความตื่นตัวและสนใจที่จะพัฒนาทักษะของตนให้ทันต่อเทคโนโลยีและทัดเทียมมาตรฐานสากล ส่งผลให้เยาวชนได้ก้าวเข้าสู่การเป็นช่างฝีมือในตลาดแรงงานเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและบริการของประเทศในอนาคต สำหรับการแข่งขันครั้งนี้เป็นครั้งที่ 12 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยจะมีพิธีเปิดในวันที่ 30 สิงหาคม 2561 แข่งขันระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม- 2 กันยายนนี้ และมีพิธีปิดในวันที่ 4 กันยายน 2561 จัดแข่งขัน 26 สาขาอาชีพ จำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต (2) กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีการสื่อสารสาขาเว็บดีไซน์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ (3) กลุ่มสาขาอาชีพแฟชั่นและครีเอทีฟ (4) กลุ่มสาขาอาชีพขนส่งและโลจิสติกส์ (5) กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีก่อสร้างและอาคาร และ (6) กลุ่มสาขาบริการส่วนบุคคลและสังคม ในช่วงของงานแข่งขันฯ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณเกือบ 3 หมื่นคน ได้แก่ เยาวชนที่เข้าแข่งขันจาก 10 ประเทศ เจ้าหน้าและคณะกรรมการจากอาเซียนและไทย และผู้ชมการแข่งขัน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่าการแข่งขันครั้งนี้ทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ในฐานะเจ้าภาพหลักได้ใช้แนวทางประชารัฐร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ในการจัดการแข่งขัน ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการจัดงานแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน คร้งที่ 12 ครั้งที่ 1/2561 ทำให้ทราบว่ามีความคืบหน้าเป็นอย่างมากทั้งด้านการแข่งขัน ด้านอำนวยการ ด้านพิธีการ ด้านวิชาการ ด้านประชาสัมพันธ์ กิจกรรมประชุมวิชาการ ASEAN TVET Conference และกิจกรรม One School One Country เป็นต้น โดยทุกกิจกรรมได้รับความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในเรื่องของสถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุ เพื่อให้งานแข่งขันฯ ออกมาอย่างสมบรูณ์แบบ และเป็นที่ประทับใจชาติสมาชิกอาเซียน
"การที่ไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ เป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างมาก เนื่องจากจะมีการนำเทคโนโลยี วิธีการ และรูปแบบการแข่งขัน มาเป็นต้นแบบในการจัดงานแข่งขันฝีมือแห่งชาติ และถ่ายทอดทักษะความรู้ที่ได้จากการแข่งขันไปสู่หน่วยงานในสังกัดสถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมในการพัฒนาทักษะคนทำงาน และขณะเดียวกันเป็นการกระตุ้นให้เยาวชน ช่างฝีมือ และประชาชนทั่วไป เกิดความกระตือรืนร้นในการพัฒนาทักษะฝีมือตนเอง ส่งเสริมให้ประเทศมีความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่วนประเทศสมาชิกมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านทักษะฝีมือ สังคม และวัฒนธรรม เป็นการสร้างมิตรภาพและความเข้าใจอันดีต่อกัน" รมว.แรงงาน กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit