นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า จากการสนับสนุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำเยาวชนจำนวน 16 ทีม เข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก The Intel International Science and Engineering Fair 2018 (Intel ISEF) ซึ่งการประกวดโครงงานแบ่งออกเป็น 22 สาขา อาทิ สัตวศาสตร์ วัสดุศาสตร์ เคมี คณิตศาสตร์ พืชศาสตร์ วิศวกรรมชีวการแพทย์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ระบบสมองกลฝังตัว ซอฟต์แวร์ระบบ โดยในปีนี้เยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลมาได้ถึง 6 รางวัลด้วยกัน ได้แก่ 1. รางวัลที่ 3 สาขาสัตวศาสตร์ จากโครงงานการพัฒนาถ้วยน้ำผึ้งเทียมเพื่อการขยายรังของชันโรง ซึ่งเป็นผลงานของนายวิรชัช ศรีปุริ นางสาวจิตรลดา ไชยชมพู และนายบุณยกร สอนขยัน จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ โดยมี นายสุทธิ พงษ์ใจแก้ว เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา 2. รางวัลที่ 4 สาขาพืชศาสตร์ จากโครงงานหลักการการแตกของฝักส้มกบ ซึ่งเป็นผลงานของนายณัฐบูรณ์ ศิริแสงตระกูล จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) โดยมี นายอัครวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ และรศ.ดร.วิวัธน์ ยังดี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา 3.รางวัลที่ 4 สาขาคณิตศาสตร์ จากโครงงานการศึกษาสมการเชิงขั้วของการกระจายตัวของน้ำจากหัวสปริงเกอร์ชนิดใบพัดแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลงานของ นายอดิศร ขันทอง นางสาววิชยา เนตรมนต์ประภา และนางสาวกุลณัฐบูรณารมย์ จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเพชรบุรี โดยมี นายศักดิ์นรินทร์ จันทร์นาค เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และยังได้รับรางวัลสเปเชี่ยลอวอร์ดจากสมาคมวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society อีกหนึ่งรางวัล 5.รางวัลสเปเชี่ยลอวอร์ดจาก USAID from the American People ประเทศสหรัฐอเมริกา สาขาระบบสมองกลฝังตัว (Embedded Science) จากโครงงานระบบเครือข่ายเซนเซอร์สื่อสารไร้สายเพื่อการแจ้งเตือนไฟป่าและการลักลอบตัดไม้ ซึ่งเป็นผลงาน นายญาณภัทร นิคมรักษ์ จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยมุกดาหาร โดยมีนายธีระวุฒิ จันทะพันธ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และ 6.รางวัลสเปเชี่ยลอวอร์ดจาก USAID from the American People ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกหนึ่งรางวัลในสาขาปฐพีศาสตร์และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Earth and Environmental Sciences) จากโครงงานนวัตกรรมอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำจากเนอสเซอรีอนุบาลโกงกางใบใหญ่ ซึ่งเป็นผลงานของ นายกษิดิ์ เดชสุขไกว นายพัทธดนย์ นามวงค์เนาว์ และนางสาวชิดชนก อินทร์แก้ว จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา โดยมี นางสุวารีพงศ์ ธีระวรรณ และนายเฉลิมพรพงศ์ ธีระวรรณ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
"รางวัลเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เสริมสร้างกำลังใจให้แก่เรา แม้ว่าเราจะพลาดรางวัลในครั้งนี้ ก็มิได้หมายความว่า เราไม่เก่ง หลายๆ โครงงานที่น้องๆ และครูพัฒนาขึ้นนั้น นับเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยม ถึงแม้ไม่ได้รับรางวัล นั่นมิได้หมายความว่า เราล้มเหลว นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่น้องๆ ต้องก้าวต่อไป ประสบการณ์ที่ได้รับในโอกาสนี้ ถือเป็นรางวัลของชีวิตที่น่าจดจำ ขอให้ทุกท่านระลึกถึงความรัก ความสามัคคี ความเอื้ออาทรที่มีต่อกันในการร่วมเป็นทีมไทยที่มาสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ" นางกรรณิการ์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ตัวแทนเยาวชนที่ได้รับรางวัลได้พูดถึงผลงานของตนเอง ดังนี้ นายวิรชัช ศรีปุริ ตัวแทนจากทีมโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ได้เล่าถึงแนวคิดในการทำ "โครงงานการพัฒนาถ้วยน้ำผึ้งเทียมเพื่อการขยายรังของชันโรง" ของกลุ่มตนเองว่า ชันโรง เป็นผึ้งขนาดเล็กที่ไม่มีเหล็กใน และเป็นแมลงที่มีศักยภาพในการผสมเกสรผลไม้ การเพิ่มประชากรของชันโรงจึงมีความสำคัญในการช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกร พวกเขาจึงได้ทดลองนำถ้วยน้ำผึ้งใส่เข้าไปในรังผึ้งเพื่อเพิ่มปริมาณการวางไข่ของชันโรง และศึกษารูปแบบการจัดวางของถ้วยน้ำผึ้งและจำนวนของถ้วยน้ำผึ้งสัมพันธ์กับการขยายรังของชันโรงซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มประชากรของชันโรง จากการศึกษาพบว่าการเพิ่มจำนวนของถ้วยน้ำผึ้งมีความสัมพันธ์ต่อการขยายรังของชันโรงซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มประชากรของชันโรง
นายณัฐบูรณ์ ศิริแสงตระกูล จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) ได้อธิบายถึง "โครงงานหลักการการแตกของฝักส้มกบ" ของตนเองว่า ส้มกบเป็นวัชพืชที่พบเห็นได้ทั่วไปซึ่งใช้ฝักในการกระจายพันธุ์ ภายในฝักส้มกบมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก ฝักของมันสามารถแตกตัวได้เมื่อมันถูกสัมผัส เมื่อฝักของมันแตกตัวจะทำเมล็ดที่อยู่ภายในดีดตัวออกมา จึงทำให้นายณัฐบูรณ์สนใจและอยากศึกษาเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพของฝักส้มกบและการแตกตัวของมันว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร จากการศึกษาการแตกตัวของฝักส้มกบที่เป็นฝักอ่อน ฝักแก่ และฝักที่แตกแล้ว รวมถึงศึกษาลักษณะของเมล็ดภายในฝัก พบว่าการแตกตัวของฝักส้มกบเกิดจากความตึงผิวของเยื่อหุ้มเมล็ดที่ไม่เท่ากัน และผิวภายนอกของเยื่อหุ้มเมล็ดจะทำหน้าที่คล้ายสปริงที่มีพลังงานสะสมเอาไว้ เมื่อฝักเริ่มแก่ตัวเต็มที่ ฝักจะมีผนังบางลง เมื่อถูกสัมผัสหรือมีวัตถุมากระทบกับฝักของมันจะทำให้ฝักส้มกบแตกตัวได้ง่าย ทำให้เมล็ดที่อยู่ภายในฝักถูกดีดออกจากฝักในระยะเวลาอันสั้น นายณัฐบูรณ์มีความเชื่อมั่นว่าความรู้ที่ได้จากกการศึกษาในครั้งนี้จะเป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้พวกเราเข้าใจในธรรมชาติของพืชและสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต
นางสาววิชยา เนตรมนต์ประภา ตัวแทนจากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเพชรบุรี ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการทำ "โครงงานการศึกษาสมการเชิงขั้วของการกระจายตัวของน้ำจากหัวสปริงเกอร์ชนิดใบพัดแบบต่าง ๆ" ของทีมตนเองว่า โครงงานนี้เกิดขึ้นจากการสังเกตสนามหญ้าที่โรงเรียนแล้วพบว่าสีของหญ้าไม่สม่ำเสมอ จึงทำให้เกิดคำถามว่าทำไม และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้หญ้าในสนามมีความเขียวชอุ่มที่แตกต่างกัน พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า การรดน้ำที่ไม่ทั่วถึงของสปริงเกิลมีผลต่อความแตกต่างของความเขียวชอุ่มของสนามหญ้าหรือไม่ พวกเขาจึงทำการศึกษารูปแบบการกระจายตัวของน้ำที่เกิดจากการใช้สปริงเกอร์แบบต่าง ๆ ในการรดสนามหญ้า และได้นำความรู้ทางคณิตศาสตร์มาช่วยในการศึกษาและทำการทดลอง จากการศึกษาพบว่ารูปแบบของสปริงเกิลที่แตกต่างกันมีผลต่อการกระจายของน้ำที่รดสนามหญ้า นอกจากนี้ การใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ในการศึกษาในครั้งนี้ยังช่วยให้พวกเขาสามารถคำนวณระยะห่างในการวางหัวสปริงเกิลแต่ละตัวเพื่อให้สามารถรดน้ำได้อย่างทั่วถึง พวกเขาได้นำความรู้ที่ได้นี้ไปใช้ในออกแบบการวางหัวสปริงเกิลในการรดน้ำผักของชาวสวนในท้องถิ่นเพื่อช่วยในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
สำหรับ นางสาวชิดชนก อินทร์แก้ว ตัวแทนจากทีมโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการทำ "โครงงานนวัตกรรมอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำจากเนอสเซอรีอนุบาลโกงกางใบใหญ่" ของพวกเขาว่า การปลูกป่าโกงกาง ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก แต่ต้นโกงกางที่ปลูกกลับมีอัตราการรอดชีวิตเพียง 25-30 % และต้องใช้ไม้ไผ่ปักเพื่อเป็นเสาหลักในการค้ำจุนต้นกล้าโกงกางไม่ให้ล้มและถูกพัดพาไป ทำให้สิ้นเปลืองเวลา แรงงาน และเงินทุนเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานต่างช่วยกันคิดค้นวิธีและนวัตกรรมต่างๆ ในการปลูกป่าโกงกาง แต่วิธีและสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายยังมีข้อจำกัดและมีต้นทุนที่สูงมาก และไม่สามารถช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าโกงกางให้มีมากขึ้น ดังนั้น นางสาวชิดชนกและเพื่อนจึงช่วยกันคิดหาวิธีที่จะช่วยปลูกป่าโกงกางให้มีประสิทธิภาพ พวกเขาจึงได้คิดค้นและออกแบบ รวมถึงทดลองสร้างสิ่งประดิษฐ์สำหรับการอนุบาลรักษาต้นอ่อนของโกงกางให้เจริญเติบโตแข็งแรง สิ่งประดิษฐ์ของพวกเขามีลักษณะเป็นทรงกรวยคว่ำคล้ายกับรูปทรงการเจริญเติบโตของรากโกงกาง พวกเขาใช้เศษกระดาษ ซีเมนต์ และแกลบในการสร้างสิ่งประดิษฐ์และนำมาใช้ในการปลูกต้นอ่อนของโกงกางก่อนที่จะนำไปปลูกในป่าชายเลยเมื่อต้นอ่อนแข็งแรงแล้ว จากการศึกษาและทดลองกว่าหนึ่งปี ทำให้พวกเขาสามารถพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถช่วยในการอนุบาลต้นอ่อนของโกงกางให้แข็งแรงและช่วยให้อัตราการรอดและการเจริญเติบโตของโกงกางเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในราคาที่ประหยัด และง่ายต่อการใช้งาน
นายญาณภัทร นิคมรักษ์ ตัวแทนจากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยมุกดาหาร ได้กล่าวถึงการทำ "โครงงานระบบเครือข่ายเซนเซอร์สื่อสารไร้สายเพื่อการแจ้งเตือนไฟป่าและการลักลอบตัดไม้" ว่า ตนเองได้ศึกษาและออกแบบการส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายเซนเซอร์สื่อสารไร้สาย เพื่อสร้างอุปกรณ์ที่สามารถตรวจจับความถี่เสียงของเลื่อยยนต์ และสามารถตรวจจับไฟป่า รวมถึงการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้นในขณะที่เกิดไฟป่า จากการศึกษาและพัฒนาระบบตรวจจับดังกล่าวพบว่า เขาสามารถพัฒนาโมเดลในการาตรวจจับคลื่นเสียงของเลื่อยยนตร์ได้ในระยะไกลที่สุดในระยะ 90 เมตร และจากการทดลองในห้องปฏิบัติการเขายังพบว่า ความชื่นและอุณหภูมิมีความสัมพันธ์กัน เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะทำให้มีความชื้นลดลง ความรู้ที่ได้นี้ นายญาณภัทร มีความตั้งใจที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาเครื่องตรวจจับคลื่นเสียงเลื่อยยนตร์ที่มีประสิทธิภาพและการตรวจจับค่าความชื้นและอุณหภูมที่เปลี่ยนแปลงเพื่อเฝ้าระวังการเกิดไฟป่าและการตัดไม้ทำลายป่า
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit