ดร.เสนีย์ สุวรรณคดี รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวถึงที่มาของการจัดงานในครั้งนี้ว่า เป็นการแสดงผลงานสำเร็จของนักศึกษา สาขาวิชาออกแบบแฟชั่น คณะศิลปะศาสตร์ หลังจากผ่านกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนสู่การฝึกปฏิบัติ ในรายวิชาต่างๆ อย่างต่อเนื่องทุกๆ มิติ ทั้งการย้อมผ้า การทอผ้า การเลือกใช้สี เทคนิคการออกแบบตัดเย็บ การจัดงานแฟชั่นโชว์ รวมถึงการให้ความรู้ในเชิงการบริหารจัดการธุรกิจแฟชั่น ซึ่งนักศึกษาทุกคนต้องปฏิบัติและสร้างสรรค์ผลงาน มีการนำเสนองานโชว์ให้เห็นความพร้อมของฝีมือก่อนจะก้าวสู่วงการแฟชั่นจริง
คอนเซปต์หลักในโชว์ของนักศึกษาในปีนี้ จะมีกลิ่นอายของหลากหลายวัฒนธรรมและความสวยงามของสถานที่ต่างๆ เข้ามาผสมผสานอยู่ในทุกๆ คอลเลคชั่น ซึ่งผลงานที่นักศึกษาได้แสดงออกมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าทุกคนมีความเป็นมืออาชีพพร้อมก้าวสู่วงการแฟชั่นอย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตมุ่งเน้นและผลักดันให้นักศึกษาทุกรุ่นได้เรียนรู้ในทุกมิติรอบด้าน ในอนาคตนอกจากหลักสูตรการเรียนการสอนที่เปี่ยมประสิทธิภาพ เรายังมีแผนที่จะเปิดห้องเสื้อของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นศูนย์กลางให้นักศึกษารวมถึงศิษย์เก่าได้มีพื้นที่แสดงผลงาน เพื่อการเป็นเจ้าของธุรกิจแบรนด์ของตนเอง รวมถึงรวมถึงหลักสูตรระยะสั้นเพื่อร่วมผลักดันให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการเป็นดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ได้ ซึ่งจะช่วยต่อยอดผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นแฟชั่นฮับของภูมิภาคอาเซียนต่อไป
ณัฐ รัตนวรรณ นักศึกษาเจ้าของผลงานชุด "OBLATION" เล่าถึงที่มาของชุดแฟชั่นว่า ได้แรงบันดาลใจจากความงดงามของพวงมาลัยและทองคำเปลว ซึ่งเป็นเครื่องสักการะบูชาของชาวพุทธ ตนได้นำศิลปะการประดิษฐ์พวงมาลัยไทย มาเป็นแนวคิดในการออกแบบชุดราตรี โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การใช้รูปแบบโครงร่างที่เรียบง่ายโดยเน้นเทคนิคในการจับจีบผ้า ให้มีลักษณะเหมือนการพับกลีบดอกไม้พวงมาลัย ผสมผสานลวดลายสีทองของทองคำเปลว สื่อให้เห็นถึงความเป็นมาของวัฒนธรรมกลิ่นอายและมนต์ขลังของเครื่องสักการะบูชาที่สืบทอดกันมาแต่ช้านาน ตนอยากช่วยสืบสานและเพิ่มมูลค่าของผ้าไทย ซึ่งมีตลาดรองรับแน่นอนแต่ดีไซน์ต้องไม่จำเจ จากนี้ก็จะเดินหน้าสานฝันเพื่อสร้างแบรนด์ของตัวเองให้ได้
ขณะที่มัณฑนา กลิ่นมาลัย มาพร้อมผลงานในชุด "AL AQSA" ที่มาของชุดจากมัสยิดอัล-อักซอ ประเทศปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญสำหรับชาวมุสลิม เพราะเป็นสถานที่ที่ท่านนบีมูฮัมหมัดได้ทำการละหมาดก่อนจะขึ้นสู่ฟากฟ้า โดยได้นำโครงสร้าง ลวดลายสี ของมัสยิดมาออกแบบสร้างสรรค์ลงบนชุด โดยออกแบบลวดลายใหม่ขึ้นมาโดยใช้เทคนิคการระบายสีน้ำ และใช้เทคนิคการสาน เพื่อแสดงรายละเอียดลงบนชุด รูปแบบของชุดจะปกปิดส่วนที่ต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลามแต่ผสมผสานความเป็นแฟชั่นร่วมสมัยเข้าไปอย่างกลมกลืนกลายเป็นโมเดิร์นมุสลิมเดรส
มาถึงธัญวลัย โภคินเมธาสิทธิ์ โชว์ด้วยงาน "DIGITECH" อีกหนึ่งผลงานที่ถูกจับตามอง เล่าถึงที่มาของชุดแฟชั่นว่า "ปัจจุบันมนุษย์มีความใกล้ชิดและเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีแทบจะตลอดเวลา เปรียบเสมือนเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ขณะเดียวกันเสื่อผ้าเครื่องแต่งกายเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ไม่ค่อยได้นำมาพัฒนาให้มีเทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงเกิดความคิดที่จะผนวกรวมสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน โดยนำเอาสาย LED ที่มีขนาดเล็ก เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการสื่อสารผ่านสัญลักษณ์ ไปตัดเย็บร่วมกับผ้าอย่างประณีต ทำให้ไม่มีส่วนของสายไฟปรากฏให้เห็นอยู่บนชุด ในส่วนของแบตเตอรี่นั้นถูกซ่อนอยู่ในเครื่องเกาะเกี่ยวต่างๆ ของชุด ทำให้ "Digital Text Message LED" สามารถแสดงผลผ่านเสื้อผ้าได้ ทั้งรูปแบบของข้อความ สัญลักษณ์ ใช้สื่อสารแทนการพูด ทั้งยังสามารถควบคุมเปลี่ยนข้อความผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนได้อีกด้วย" ดีไซเนอร์รุ่นใหม่กล่าวด้วยรอยยิ้ม
ด้านรัชชานนท์ พุฒิซ้อน ผู้บริหารบริษัท Vit C Bio Face จำกัด หนึ่งในผู้สนับสนุนการจัดงานและศิษย์เก่าจากรั้วเกษมบัณฑิต เล่าถึงความภาคภูมิใจจากการชมสุดยอดแฟชั่นโชว์ของรุ่นน้องร่วมสถาบันว่า รู้สึกชื่นชมและภาคภูมิใจกับน้องๆ ทุกผลงานที่แสดงออกมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าทุกคนพร้อมก้าวเข้าสู่วงการแฟชั่นเต็มตัว ในฐานะศิษย์เก่าจากรั้วเกษมบัณฑิตจึงอยากจะเป็นปุ๋ยเพื่อที่จะมาหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์พืชรุ่นใหม่ ให้น้องๆ เป็นต้นกล้าที่เติบโต แข็งแรง เพื่อที่จะนำผลงานดีๆ แบบนี้ ออกสู่สาธารณะชนได้เห็นว่าเยาวชนไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก
126 ชุด จาก 19 แนวความคิด ที่มาจากไอเดียว่าที่ดีไซน์เนอร์หน้าใหม่ เป็นการผสมผสานของงานศิลปะและแฟชั่นได้อย่างลงตัว เรียกได้ว่าแต่ละชุดที่ขึ้นโชว์บนรันเวย์ปีนี้ล้วนมาจากความคิดสร้างสรรค์ หลายคอลเลคชั่นนักศึกษาได้เรียนรู้ทางวัฒนธรรมและความสวยงามของศิลปะก่อนผลิตชิ้นงานจริง สมกับความเป็นมืออาชีพกันจริงๆ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit