นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ Chief Investment Officer (รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ. กสิกรไทย) เปิดเผยว่าจากแนมโน้มที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศมีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น และอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นโดยมีปัจจัยทั้งจากต้นทุนสินค้าและการบริโภค ทำให้อัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ถูกคาดหวังว่าจะปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและจังหวะที่เหมาะสมในการปรับขึ้นของแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันและไม่จำเป็นที่จะเกิดขึ้นพร้อม แต่การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2015 เป็นต้นมา จนปัจจุบัน Fed Fund Rate อยู่ที่ระดับ 1.50-1.75% และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอีก 0.50-0.75% ภายในปีนี้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.50% นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการโอนเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้ตลาดเกิดความกังวลต่อการไหลออกของเงินทุนจากตลาดตราสารหนี้ไทย ส่งผลให้เกิดแรงเทขายพันธบัตรรัฐบาลในทุกช่วงอายุ ในช่วงระยะเวลา 1 เดือนเศษที่ผ่านมา ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ปรับตัวสูงขึ้นและกดดันราคาตราสารหนี้ให้ลดลง และส่งผลกระทบต่อมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ของกองทุนตราสารหนี้ให้ปรับตัวลดลง
"นับจากต้นปี 2018 เป็นต้นมา แม้นักลงทุนต่างประเทศจะลดการถือครองพันธบัตรสกุลเงินบาทของไทยลงเกือบ 3 หมื่นล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะพันธบัตรที่มีอายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี กลับมีมูลค่าการถือครองเพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านบาทเศษ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่ยังคาดหวังผลตอบแทนสุทธิจากการลงทุนในพันธบัตรสกุลเงินบาทของไทยพอสมควร" นายชัชชัยกล่าว
นายชัชชัยกล่าวต่อไปว่า สำหรับมุมมองต่อตลาดตราสารหนี้ไทยในครึ่งปีหลัง บลจ.กสิกรไทยมองว่าตลาดได้มีการรับรู้ถึงปัจจัยดังกล่าวไปค่อนข้างมากแล้ว รวมทั้งที่ผ่านมาความผันผวนของตลาดตราสารหนี้ไทยและค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบที่จำกัดกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคมาก จึงคาดว่าการปรับขึ้นของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยจะเป็นไปในทิศทางค่อยๆทยอยปรับขึ้นแบบ Sideway Up ตามทิศทางดอกเบี้ยโลก นอกจากนี้มองว่าตราสารหนี้ไทยยังมีความน่าสนใจ ด้วยแรงสนับสนุนจากทั้งปัจจัยภายนอกประเทศที่นักลงทุนต่างชาติยังคงเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย และปัจจัยภายในประเทศที่ยังคงมีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบจำนวนมาก รวมถึงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินไทยน่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% อีกระยะหนึ่งเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว
นายชัชชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์ในการบริหารพอร์ตการลงทุนของบลจ.กสิกรไทยนั้น ผู้จัดการกองทุนจะมีการปรับเปลี่ยนดูเรชั่นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเหมาะสมกับนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุน โดยกองทุนที่มีดูเรชั่นน้อยกว่า 1 ปี อาทิ กองทุน K-SFPLUS ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากการแกว่งตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรดังกล่าว และผู้ลงทุนควรถืออย่างน้อย 1-2 เดือนขึ้นไป ส่วนกองทุนที่มีดูเรชั่นเกิน 1 ปี อาทิ กองทุน K-CBOND, K-PLAN1, K-FIXED และ K-FIXEDPLUS อาจได้รับผลกระทบจากการแกว่งตัวของ NAV บ้างในระยะสั้น จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ยอมรับความผันผวนได้และควรลงทุนเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน – 1 ปีขึ้นไป ทั้งนี้การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่คาดว่าน่าจะแกว่งตัวในลักษณะ Sideway-Up ดังกล่าว อาจเป็นโอกาสให้กองทุนปรับเปลี่ยน Duration ให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาเพื่อหาผลตอบแทนส่วนเพิ่มเติม (Alpha) จากการลงทุนได้
ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุนได้ที่ www.kasikornasset.com หรือ บลจ.กสิกรไทย หรือธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือขอข้อมูลดังกล่าวจากบุคคลที่เสนอขายกองทุนก่อนตัดสินใจลงทุนbegin_of_the_skype_highlightinend_of_the_skype_highlighting
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit