สคร.10 อุบลฯ เตือนเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปากในเด็ก

21 May 2018
วันนี้ 21 พฤษภาคม 61 นายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี (สคร.10) กล่าวถึงสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ว่าโรคมือเท้าปาก พบระบาดมากในฤดูฝน เด็กที่ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก จะเริ่มด้วยอาการมีไข้ต่ำอ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน เด็กจะไม่ดื่มนมหรือรับประทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ และมีตุ่มหรือผื่นบริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย
สคร.10 อุบลฯ เตือนเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปากในเด็ก

โรค มือ เท้า ปาก ปกติจะไม่มีอาการรุนแรงอาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน แต่หากได้รับเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 (EV 71) อาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบว่า มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก มีภาวะขาดน้ำ ความดันโลหิตต่ำ อัตราการเต้นหัวใจผิดปกติ อาจช็อกหมดสติ และเด็กอาจมีโอกาสหัวใจวายทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งในบางรายไม่พบผื่นที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ให้เห็นชัดเจน ข้อมูลจากกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 พฤษภาคม 2561 เขตสุขภาพที่ 10 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก จำนวน 566 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบป่วยสูงสุดคือแรกเกิด - 4 ปี

นายแพทย์ดนัย กล่าวต่ออีกว่า วิธีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคมือเท้าปาก ทำได้โดยสอนให้บุตรหลานรักษาความสะอาด โดยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รวมทั้งไม่พาเด็กไปสถานที่ที่มีคนเยอะ อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ในช่วงที่มีการระบาด รวมทั้งโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กควรดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสุขลักษณะของสถานที่อย่างสม่ำเสมอ เช่น ในห้องเรียน ห้องครัว ภาชนะใส่อาหาร รวมทั้งห้องน้ำ ห้องส้วม อาคารสถานที่ เครื่องเล่น หรืออุปกรณ์การเรียนการสอน ของเล่นต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำ ทั้งนี้ หากพบว่าบุตรหลานมีอาการใกล้เคียงกับการรับเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 แนะนำให้พาไปพบแพทย์โดยทันที และควรแจ้งให้ทางโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กทราบ และหยุดอยู่บ้านจนอาการและแผลทุกแห่งหายเป็นปกติ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

HTML::image( HTML::image(