สัตว์น้ำจืดเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการ สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารที่หล่อเลี้ยงประชาชนในประเทศ ทั้งเพื่อการยังชีพและสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว จึงกล่าวได้ว่าสัตว์น้ำจืดเป็นทรัพยากรของแผ่นดินที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน กรมประมงในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจรับผิดชอบดูแลสัตว์น้ำและการประกอบอาชีพประมง เพื่อให้มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและสมดุลกับกำลังการผลิตของธรรมชาติ จึงได้มีการกำหนดมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูที่สัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ตลอดมา โดยจะมีการห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพสูงจับสัตว์น้ำจืดในพื้นที่แหล่งน้ำจืด เพื่อเปิดโอกาสให้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้วางไข่ และเจริญเติบโตขึ้นมาทดแทน อันจะทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีความยั่งยืน
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศ เพื่อกำหนดฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ และกำหนดชนิด ขนาด เครื่องมือ และวิธีใช้เครื่องมือทำการประมงในฤดูดังกล่าว มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2507 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลายาวนานถึง 54 ปีแล้ว แต่จากสภาพปัจจุบันที่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน สภาพแวดล้อม สภาวะทรัพยากร สภาพภูมิอากาศและเหตุปัจจัยอื่นๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป และจากกฎหมายประมงฉบับใหม่ ทำให้สามารถกำหนดระยะเวลา ฤดูที่สัตว์น้ำจืดมีไข่ ในแต่ละพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม โดยได้มีการนำข้อมูลดังกล่าวไปทำประชาคมจากผู้แทนชาวประมงในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและส่งผลกระทบน้อยที่สุดในการกำหนดมาตรการดังกล่าว
ดังนั้น ใน ปี 2561 กรมประมงจึงได้กำหนดฤดูที่สัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อนขึ้นใหม่ โดยกำหนดระยะเวลาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่า ข้อมูลชีววิทยาของสัตว์น้ำจืด และข้อมูลด้านการประมงที่เป็นปัจจุบัน โดยได้ออกประกาศกรมประมง ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 เพื่อกำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัววัยอ่อน ดังนี้
โดยภายในระยะเวลาดังกล่าว กำหนดให้เฉพาะ "เครื่องมือ. และวิธีการทำการประมงที่อนุญาต" เท่านั้นที่สามารถทำการประมงได้ในช่วงเวลาและแหล่งน้ำในจังหวัดดังกล่าว ได้แก่
1. เบ็ดทุกชนิดที่ไม่มีลักษณะเป็นเบ็ดต่อกันเป็นสายมากกว่า 1 ตัว
2. ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ และชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมงด้วยวิธีประดาตั้งแต่สามเครื่องมือขึ้นไป
3. สุ่ม ฉมวก และส้อม
4. ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน โปง และโทง หรือเครื่องมือที่มีลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกัน
5. แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร)
6. การทำการประมงในพื้นที่แหล่งน้ำปิดที่ไม่ติดต่อกับแม่น้ำ หรือลำธารธรรมชาติ
7. การทำการประมงเพื่อการศึกษา วิจัย หรือทดลองทางวิชาการ โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง
โดยประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในปี 2561 เท่านั้น โดยจะมีการออกประกาศในลักษณะเดียวกันนี้ทุกปี ก่อนหน้า ฤดูสัตว์น้ำมีไข่ เพื่อให้การมาตรการบริหารจัดการดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงสุด และสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ และฤดูกาล ที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ ดังกล่าว มีโทษปรับตั้งแต่ห้าพันถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งในความร่วมมือจากพี่น้องที่มีอาชีพจับสัตว์น้ำและประชาชนทั่วไป ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ และร่วมกันรณรงค์การทำประมงอย่างถูกวิธี ไม่ทำลายสัตว์น้ำด้วยการใช้เครื่องมือทำลายล้าง ไม่จับปลาในฤดูมีไข่ ตลอดจนช่วยกันสอดส่องดูแล และแจ้งเบาะแสการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำของไทยให้สามารถแพร่ขยายพันธุ์คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อให้มีใช้อย่างยั่งยืน...อธิบดีกรมประมง กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit