นายวัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด (BSCM) เปิดเผยว่า เป็นเวลากว่า 80 ปีแล้วตำนานของแบรนด์"หงษ์ทอง" เริ่มต้นธุรกิจจากรุ่นคุณปู่ คือ นายบัวลิ้ม แซ่โค้ว ต้นตระกูล "มานะธัญญา" อพยพจากประเทศจีนที่หนีความยากลำบากมาอยู่เมืองไทย ด้วยการเริ่มทำธุรกิจซื้อมาขายไปข้าวสารแถวสามย่าน โดยมีลูกชาย 2 คนคือ นายโกศล และนายกมล เป็นผู้ช่วย และทั้งสองท่านมีความใฝ่ฝันจะมีโรงสีเป็นของตัวเอง ในปี พ.ศ.2480 จึงเริ่มต้นจากขอเช่าโรงสีร้างของพระยามานวราชเสวี (ท่านเจ้าคุณมาน) อยู่แถวบางซื่อ จึงถือเป็นปีเริ่มต้นธุรกิจข้าวอย่างเต็มตัวของตระกูลมานะธัญญา
นายโกศลและนายกมล ถือเป็นกำลังสำคัญในการทำงานทุกอย่างทุกขั้นตอน จนไม่มีเวลาเรียนหนังสือ และเมื่อสีข้าวได้แล้ว จะเอาข้าวบรรทุกใส่เรือกระแซง ซึ่งบรรทุกได้ประมาณ 10 ตัน ล่องไปขายแถบบริเวณคลองเทเวศน์ และสะพานมัฆวาน กว่าจะขายหมดก็กินเวลา 5-6 วันจึงจะกลับบ้าน ทำอย่างนี้เรื่อยมาจนท่านเจ้าคุณมาณเห็นในความมีมานะอุตสาหะ จึงตั้งนามสกุลให้ว่า "มานะธัญญา" ซึ่งหมายถึงตระกูลผู้มีมานะในการทำงานด้านธัญญาหาร คือข้าวนั่นเอง และต่อมาในปี 2499 ท่านเจ้าคุณมาณจึงขายที่ดินโรงสีให้ในราคา 115,000 บาท
"ธุรกิจของเราเริ่มตั้งแต่ การซื้อมา-ขายไป "ข้าวสาร" และได้มีการพัฒนา และขยายเติบโตจนเป็นธุรกิจทั้งในประเทศ และส่งออกข้าวไปในหลายประเทศทั่วโลก ด้วยปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ ที่เน้นการดูแลรักษาคุณภาพสินค้า การรักษาคำพูด สัญญา และการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นแนวทางในการนำพากิจการเติบโตได้ยาวนานถึง 80 ปี และต่อ ๆ ไป รวมถึง การได้รับการสนับสนุนด้วยดีตลอดมาจาก คู่ค้า-ลูกค้า-ชาวนา-โรงสี-สถาบันการเงิน-ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนถึงส่วนราชการ และตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ ทั้ง อเมริกา แคนนาดา ฮ่องกง สิงค์โปร์ กวม ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ อีกทั่วโลก" นายวัลลภ กล่าว
นายวัลลภ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ มีผลประกอบในรอบปี 2560 มียอดขายประมาณ 250,000 ตัน ซึ่งเติบโตจากปี 2559 ที่ 15% แต่มูลค่าการขายลดลงเล็กน้อยเนื่องจากราคาข้าวลดลง ทั้งนี้การขายสินค้าของ BSCM ส่วนใหญ่เป็นการขายในตราสินค้าของบริษัท คือ ตราหงษ์ทอง หรือ Golden Phoenix เป็นตราหลัก มากกว่า 85% ของจำนวนยอดขายทั้งหมด และสินค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าวหอมมะลิมากกว่า 95% และมีสินค้าตราอื่นๆ ของบริษัทฯอีก 2-3 ตัว ซึ่งถือว่าเป็นความมั่นคงของบริษัทอย่างมากที่ขายสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเป็นส่วนใหญ่
ในอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายในการส่งออกไว้ประมาณ 400,000 ตัน หรือเติบโต 10% ต่อปี ด้วยมูลค่าส่งออก 9,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงสีในจังหวัดนนทบุรี, ศรีสะเกษ, ร้อยเอ็ด และสุพรรณบุรีเป็นฐานการรับซื้อข้าวเปลือก และการผลิต ทั้งข้าวขาว ข้าวหอม ทำให้ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 300,00 ตันต่อปี
และเพื่อเป็นการพัฒนาสินค้าของบริษัทฯ ให้มีคุณภาพที่ดีตลอด บริษัทฯ จึงส่งเสริมให้ชาวนารู้จักวิธีการปลูกที่สามารถลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น ในชื่อ โครงการหงษ์ทองนาหยอด ในจังหวัดศรีสะเกษและอุบลราชธานี จนปัจจุบันมีเกษตรกรชาวนาเข้าร่วมโครงการจำนวน 2,000 ราย รวมเนื้อที่ประมาณ 40,000 ไร่ ที่ช่วยลดต้นทุนการทำนาลงได้ถึง 20% ของต้นทุนเดิม และเพิ่มผลผลิตได้สูงขึ้นอีก 20% ส่งผลให้เกษตรกรชาวนามีกำไรจากการทำนาข้าวโดยเฉลี่ยไร่ละประมาณ 3,000 บาท ซึ่งนอกจากจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากชาวนาที่เข้าร่วมโครงการ และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน ยกย่องให้เป็นโครงการต้นแบบหนึ่งในโครงการของประชารัฐ ที่กำลังขยายผลต่อไปในภาคการเกษตรการปลูกข้าวของไทยอย่างกว้างขวางต่อไป
นอกจากนี้ บริษัทฯ มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตพนักงานทุกคน เพราะมีความเชื่อมั่นว่า ทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสูงสุด อันหมายถึงผลประกอบการที่ดีของบริษัทฯ ทั้งการพัฒนาความรู้ และความเข้าใจในงาน รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ การดูแลสุขภาพของพนักงานอย่างต่อเนื่อง ด้านเศรษฐกิจครัวเรือน ได้จัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าวหงษ์ทอง และให้ความช่วยเหลือพนักงานทุกคน สามารถปลดหนี้นอกระบบได้ทุกคน และสนับสนุนให้พนักงานใช้ประโยชน์จากสหกรณ์ฯ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว เช่น ใช้เพื่อการศึกษาบุตร เลี้ยงดูบุพการี การจัดหาบ้านพักอาศัย หรือ การซื้อยานพาหนะอีกด้วย
ด้านตลาดในประเทศ นางโสพรรณ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายข้าวแบรดน์ "ข้าวหงษ์ทอง"กล่าวว่าถึง กลยุทธ์ปี 2561 นี้ ข้าวหงษ์ทองเตรียมปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว โดยการขายผ่านช่องทาง Online Marketing ทั้งทางสังคมออนไลน์อย่าง Website, Facebook, Instargram และ YouTube ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทฯ มีแฟนเพจที่ Active มากกว่า 200,000 ราย รวมถึงการขยายช่องทางการขายผ่าน E-Commerce รูปแบบของ Marketplace Platform ทั้ง Lazada, 11street, Shopee, Weloveshoping และกำลังจะดำเนินการบน JD Central โดยบริษัทมุ่งหวังว่าในปี 2561 ช่องทางเหล่านี้จะเติบโตมากกว่า 100% และมากกว่า 200% ในปี 2562
"แม้เราจะมุ่งมั่นในการพัฒนาร้านค้าออนไลน์ แต่ก็ใช่ว่าเราจะทิ้งร้านค้าปลีก เพราะในตอนนี้ข้าวหงษ์ทองมีร้านค้าปลีกในชื่อ "หงษ์ทองเฮลท์สเตชั่น" ที่เปิดตัวไปแล้ว 3 สาขา และล่าสุดเรายังเข้าซื้อกิจการร้านสินค้าสุขภาพ ชื่อร้าน "ใบเมี่ยง" อีก 4 สาขา เราจึงมั่นใจว่าผู้บริโภคจะเข้าถึงสินค้าของเราได้ทั่วถึงอย่างแน่นอน" นางโสพรรณ กล่าวเพิ่มเติม
นางโสพรรณ ยังกล่าวถึงโอกาสพิเศษที่ข้าวหงษ์ทองมีอายุครบ 80 ปี ว่า "เราได้มีการคิดค้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภค ซึ่งได้เริ่มออกสู่ตลาดแล้วหนึ่งผลิตภัณฑ์คือ ข้าวกล้อง "Zuper Rice" เป็นการนำเอาสุดยอดข้าวกล้อง 3 สายพันธุ์มารวมกัน สารต้านอนุมูลอิสระ สูงกว่าข้าวกล้องทั่วไปถึง 6 เท่า และภายในไตรมาสที่ 3 จะมีอีก 1 ตัวเป็นข้าวสำหรับคนที่ชอบข้าวนุ่ม เป็นตัว หุงขึ้นหม้อ แต่จ่ายในราคาเบาๆ เหมาะกับสถานการณ์ข้าวปัจจุบัน รวมถึงกิจกรรมพิเศษที่เราจัดให้ผู้บริโภคตลอดทั้งปี หรือสินค้าราคาพิเศษที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่าง Big C, Lotus ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เราจัดขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคได้เฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 80 ปี ไปพร้อมกับเรา ให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกข้าวหงษ์ทอง"
"นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวข้าวหงษ์ทองแล้ว สิ่งสำคัญที่บริษัทยึดมั่นมาตลอดคือการเน้นดูแล รักษาคุณภาพของสินค้า และการดำเนินธุรกิจ ด้วยความซื่อสัตย์-ซื่อตรง รักษาคำพูด รักษาชื่อเสียง สมดังปฏิญาณที่บริษัท ที่ว่า "คุณภาพนำหน้า ราคายุติธรรม บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต" และนี่คือปรัชญาการดำเนินธุรกิจของข้าวหงษ์ทองที่มีให้ลูกค้าคนสำคัญมาตลอด 80 ปี" นางโสพรรณ กล่าวปิดท้าย
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit