นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณฝนรวมทั้งประเทศน้อยกว่าค่าปกติเล็กน้อย ซึ่งในช่วงต้นฤดูฝน จะมีฝนตกชุกและฝนตกต่อเนื่อง ส่วนช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2561 ปริมาณฝนและการกระจายตัวของฝนจะลดลง จากนั้นจะมีฝนตกชุกหนาแน่นกับฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ได้สั่งการจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยเชิงรุก ดังนี้
การเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัย โดยปรับปรุงแผนการเผชิญเหตุอุทกภัยระดับจังหวัดให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดการสาธารณภัยที่กำหนด รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพ การระบายน้ำในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย โดยเฉพาะเขตชุมชน เส้นทางคมนาคมสายหลัก ด้วยการขุดลอกคู คลอง ร่องน้ำ และท่อระบายน้ำ รวมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำและจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง เพื่อให้การระบายน้ำสอดคล้องกับปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่ อีกทั้งจัดเตรียมพื้นที่รองรับน้ำป้องกันน้ำท่วม โดยกำจัดวัชพืช ขยะ แลtสิ่งกีดขวางทางน้ำ ตามแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำหลากในช่วงที่มีฝนตกหนัก รวมถึงกำหนดจุดติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพื่อพร่องน้ำและระบายน้ำที่ท่วมขังไปยังพื้นที่รองรับน้ำหรือผันน้ำสู่แหล่งกักเก็บน้ำ ตลอดจนสร้างการรับรู้เกี่ยวกับป้องกันอุทกภัยแก่ประชาชน โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงฤดูฝน รวมถึงรณรงค์การไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำ คู คลองท่อระบายน้ำ เพื่อไม่ให้มีสิ่งกีดขวางเส้นทางน้ำ
การเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ รวมถึงศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางระดมสรรพกำลังและทรัพยากร อำนวยการ ประสานการปฏิบัติด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพร้อมเชื่อมโยงกลไกการสั่งการจากกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ รวมถึงวางระบบติดต่อสื่อสารหลัก – รอง ให้ใช้งานได้ตลอดเวลา เชื่อมโยงการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ ให้เปิดทางน้ำไหล และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งจัดชุดปฏิบัติการดูแลด้านการดำรงชีพ ด้วยการจัดหาอาหาร และน้ำดื่มสะอาดให้เพียงพอ การรักษาความปลอดภัย การจัดศูนย์พักพิงชั่วคราวให้พร้อมรองรับผู้ประสบภัย การดูแลสุขภาพอนามัยและรักษาพยาบาล รวมถึงการแจกจ่ายถุงยังชีพให้ครอบคลุมทุกครัวเรือนตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง กรณีสถานการณ์ภัยขยายวงกว้างให้แบ่งพื้นที่ กำหนดภารกิจ และมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน พร้อมประสานหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมืออุปกรณ์ และยานพาหนะในการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรณีบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย ให้จัดทีมช่างประชารัฐตำบลด้วยการสนธิกำลังหน่วยทหาร ตำรวจ นักศึกษาอาชีวศึกษา และเครือข่ายช่างดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือน กรณีเส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหาย ให้จัดหายานพาหนะอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน พร้อมเร่งซ่อมแซมเส้นทางให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ นอกจากนี้ ให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้อมูลสถานการณ์ภัย ทั้งการแจ้งเตือนภัย แนวโน้มสถานการณ์ภัย แนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และวิธีปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ อาทิหอกระจายเสียง สถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง
นายชยพล กล่าวต่อไปว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างเข้มข้น รวมถึงช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit