รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมได้รับรายงานจากผลการดำเนินงานของสำนักหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งมีทรัพยากรกว่า 4.1 ล้านเล่ม/รายการ อาทิ หนังสือ เอกสารโบราณ สื่อสิ่งพิมพ์หายากและบางส่วนได้นำเข้าข้อมูลดิจิทัลในระบบของสำนักหอสมุดฯ และให้บริการค้นคว้าแล้ว นอกจากนี้ ขณะนี้ได้ปรับปรุงอาคารสำนักหอสมุดฯ ให้มีความสะดวกและทันสมัย เพื่อเอื้ออำนวยในการศึกษาค้นคว้าของผู้ใช้บริการ รวมทั้งนำระบบเทคโนโลยีมาให้บริการ อาทิ ระบบบรรณารักษ์อัจฉริยะ โดยใช้แท็บเล็ตช่วยตอบคำถาม ค้นคว้าและช่วยเหลือต่างๆ แก่ผู้ใช้บริการ บัตรอัจฉริยะ บริการหนังสือและการบริการต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น NLT Library บนมือถือและเว็บไซต์ อาทิ ทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลที่เป็นหนังสือ 1 พันรายการ บริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสืบค้นข้อมูลออนไลน์กว่า 7 พันชื่อเรื่อง มากกว่า 60 ภาษาจาก 120 ประเทศทั่วโลก และบริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่อ่านและยืมคืนได้ทุกที่ทุกเวลาจากทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 600 ชื่อเรื่อง
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกำชับให้สำนักหอจดหมายเหตุฯ และสำนักหอสมุดฯ เร่งนำทรัพยากรเข้าข้อมูลดิจิทัลในระบบของแต่ละหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ค้นคว้าและเป็นไปตามนโยบายปฏิรูปประเทศของรัฐบาลที่ให้หน่วยงานรัฐจัดทำศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และให้บริการประชาชนผ่านระบบออนไลน์
นายวีระ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้ให้สำนักหอสมุดฯ ไปสำรวจข้อมูลงบประมาณและการจัดซื้อหนังสือของหอสมุดกลางและแต่ละคณะของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงการเสนอของบฯ และจัดซื้อหนังสือของสำนักหอสมุดฯ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น นอกจากนี้ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ได้รายงานผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ.2548-2560 ซึ่งจัดพิมพ์หนังสือไปแล้ว 193 เรื่องและปีงบประมาณ 2561 จะจัดพิมพ์ 13 เรื่อง อาทิ จินดามณี ฝรั่งในล้านนา บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นต้น