ITD ร่วมกับ อังค์ถัด และ BOI จัดการสัมมนาเรื่อง “การระดมเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

30 May 2018
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ร่วมกับ อังค์ถัด (United Nations Conference on Trade and Development :UNCTAD) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมเปิดมิติใหม่ "การระดมเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน"
ITD ร่วมกับ อังค์ถัด และ BOI จัดการสัมมนาเรื่อง “การระดมเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ITD ร่วมกับ อังค์ถัด และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จัดการสัมมนาเรื่อง Regional Seminar on the Promotion of Bankable Sustainable Development Goal Projects 2018 ระหว่างวันที่ 30-310พฤษภาคม 2561 ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ โดยมี นายพอล วาเชนดรอฟ หัวหน้าส่วนส่งเสริมการลงทุน อังค์ถัด ( UNCTAD ) ผู้แทนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) ร่วมเปิดงาน

ตามรายงานการลงทุนโลก (World Investment Report) ของอังค์ถัดปี 2014 ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องใช้เงินทุนประมาณ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ(trillion U$) ในการพัฒนาประเทศและเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในปี 2030 แต่ในปัจจุบันแหล่งเงินทุนของภาครัฐและเอกชนที่มีอยู่ขณะนี้ในประเทศกำลังพัฒนา เมื่อรวมกันแล้วไม่เพียงพอ มีอยู่ประมาณ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (trillion U$) ขาดอีก 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (trillion U$) ซึ่งแปลว่าประเทศกำลังพัฒนาจะต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม จึงเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรเพื่อหาเม็ดเงินลงทุนนี้มาสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว

ในส่วนแนวทางในการระดมเงินทุนที่ผ่านมา ในรายงานการลงทุนโลก (World Investment Report) ล่าสุดปี 2017 ของอังค์ถัด พบว่าการลงทุนในอดีตส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผลการศึกษาของอังค์ถัดระบุว่า ตั้งแต่ปี 2010 มีการลงทุนเพียง 20% ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (Investment Facilitation) ขณะที่การลงทุนถึง 80% ได้ประโยชน์จากมาตรการการส่งเสริมการลงทุน (Investment Promotion) เช่น สิทธิประโยชน์การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือมาตรการปลอดภาษี เป็นต้น ซึ่งจะเน้นความต้องการของนักลงทุนเป็นหลัก และเกิดการแข่งขันสูงระหว่างประเทศกำลังพัฒนาที่จะยื่นข้อเสนอต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งได้เกิดปรากฎการณ์ที่นักวิชาการเรียกกันว่า "Race to the Bottom" หรือ การแข่งขันสู่ความตกต่ำสุด ที่ส่งผลต่อการเกิดความถดถอยของนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่อาจสวนทางกับแผนพัฒนาประเทศในระยะยาว เกิดความไม่เป็นธรรมและเอารัดเอาเปรียบสังคม และความเหลื่อมล้ำ ขัดแย้งกับกฎหมายในประเทศ และพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น สิทธิด้านแรงงาน (Labour Rights) (ILO) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) (UNGA) หรือ Paris Climate Change Agreement เป็นต้น ทั้งนี้จะลดอำนาจการต่อรองและความน่าเชื่อถือของประเทศในเวทีโลกในเรื่องของ Policy Integrity and International Reputation

การลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาในปัจจุบันเพื่อประโยชน์ในอนาคต ที่ต้องการการพัฒนาที่คำนึงถึงคุณภาพสังคมและการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยที่ระบุเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ด้วย ปัจจุบันการลงทุนการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นกุญแจที่สำคัญเพื่อบรรลุ 17 เป้าหมาย เพื่อการพัฒนาที่อย่างยั่งยืน ปี 2030 (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ (United Nation : UN ) ที่มีผลตั้งแต่ ปี 2016 โดยการประชุมสหประชาชาติเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (United Nations Conference on Trade and Development : UNCTAD) เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นการส่งเสริมนโยบายใหม่ๆ ด้านการลงทุน และการปรับเปลี่ยนบริบทของหน่วยงานที่สนับสนุนการลงทุนให้คำนึงถึงเป้าหมายของการลงทุน (Goal based Investment)สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา จึงได้กำหนดการจัดงานการสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง Regional Seminar on the Promotion of Bankable Sustainable Development Goal Projects 2018 ร่วมกับอังค์ถัดและบีโอไอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ยุทธศาสตร์ แนวทางปฎิบัติ ความคืบหน้า และประเด็นอุบัติใหม่ในเรื่องการปฏิรูปนโยบายการลงทุนยุคใหม่ ภายใต้กรอบการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของอังค์ถัด ตามแนวทาง Bankable Sustainable Investment และ Responsible Investment ที่อยู่ภายใต้บทบาทของหน่วยงานการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ (Investment Promotion Agency: IPA) และหน่วยงานการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ (Outward Investment Agency: OIA) ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากหน่วยงานด้านการส่งเสริมการลงทุนจาก 19 ประเทศในเอเชียและแปซิฟิก หน่วยงานระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน (ASEAN) ,ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) หน่วยงานสหประชาชาติ WAIPA : World Association of Investment Promotion Agencies และหน่วยงานภาคเอกชน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อผู้บริหารภาครัฐในระดับนโยบายมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปนโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติแผนปฎิบัติการเพื่อเป้าหมายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของอังค์ถัด (UNCTAD Action Plan) 6 ข้อได้แก่

1. การกำหนดกลยุทธ์เชิงนโยบายเพื่อการเสริมการลงทุน ทั้งมิติการส่งเสริมการลงทุนประเทศ และการอำนวยความสะดวกการลงทุน (New generation of investment promotion and facilitation strategies)

2. การปรับนโยบาย และมาตรการส่งเสริมการลงทุน (Reorientation of investment incentive)

3. การบูรณาการความร่วมมือสู่การเชื่อมโยงแนวทางการลงทุนภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค (Regional Sustainable Development Goal investment Compacts)

4. การเสนอรูปแบบใหม่ของหุ้นส่วนเพื่อส่งเสริมการลงทุนสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (New forms of partnership for investment in the Sustainable Development Goals)

5. การนำกลไกตลาดเงินทุนมาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและปรับทิศทางของนักลงทุน (Enabling reorientation of financial market)

6. ปรับกระบวนทัศน์ทางแนวคิดของภาคธุรกิจในมิติของการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Changing the global business mindset)

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสัมมนานี้ จะนำไปสู่การถ่ายทอดความรู้ การสร้างความร่วมมือระหว่างกันในระดับนานาประเทศ เพื่อนำไปสู่การผลักดันการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การดำเนินงานของสถาบัน ที่ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน

HTML::image( HTML::image(