นายนาวินกล่าวต่อไปว่า ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลทำให้ดัชนีหุ้นอิตาลี (FTSE MIB) ปิดตลาดลดลง 2.7% ส่วนตลาดหลักๆในยุโรปอื่นๆ ปรับตัวลงมากกว่า 1% ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลง 1.6% ส่วนดัชนี S&P 500 ปรับตัวลง 1.2% (ข้อมูล ณ 29 พ.ค. 61) ส่วนตลาดตราสารหนี้เกิดเทขายพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีทำให้ดอกเบี้ยของพันธบัตรที่มีอายุ 2 ปี ปรับเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 2% ซึ่งเป็นการดีดตัวขึ้นที่สูงสุดภายใน 1วันทำการในรอบ 26ปี และอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อต้นทุนในการกู้ยืมเงินของรัฐบาลอิตาลีเนื่องจากปัจจุบันระดับหนี้ของอิตาลีอยู่ที่ 130% ต่อ GDP
"สำหรับมุมมองของบลจ.กสิกรไทย มองว่าสถานการณ์การเมืองภายในอิตาลี อาจจะยืดเยื้อออกไป และถึงแม้ว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้แต่การจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพยังคงมีความไม่แน่นอน รวมถึงความไม่ชัดเจนของนโยบายภาครัฐที่จะออกมา อย่างไรก็ตามน่าจะส่งผลกระทบต่อมุมมองของเศรษฐกิจภายในประเทศของอิตาลีเองเท่านั้น ส่วนผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในยูโรโซนในภาพรวมจะยังคงมีอยู่ในระยะสั้น ขณะที่ความเสี่ยงต่อการแยกตัวของสหภาพยุโรปนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจในยุโรปยังคงเหมือนเดิม และการดำเนินนโยบายทางการเงินของ ECB ก็น่าจะเป็นไปในทิศทางเดิม" นายนาวินกล่าว
นายนาวินกล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านคำแนะนำสำหรับผู้ที่มีการลงทุนในกองทุนต่างประเทศโดยเฉพาะหุ้นยุโรป นักลงทุนที่รับความผันผวนไม่ได้แนะนำให้ชะลอการลงทุนเพื่อดูความชัดเจนของสถานการณ์ ส่วนนักลงทุนที่รับความผันผวนได้ สามารถทยอยเข้าลงทุนในกองทุนยุโรปที่ไม่มีสัดส่วนการลงทุนในอิตาลีอย่างมีนัยสำคัญได้ ทั้งนี้กองทุน K-EUROPE ของบลจ.กสิกรไทยซึ่งมีนโยบายการลงทุนในหุ้นยุโรปผ่านกองทุนหลักต่างประเทศ ปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนแยกตามรายประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ อังกฤษ 23.2% เยอรมัน 18.1% สวีเดน 10.8% เดนมาร์ก 10.8% และฝรั่งเศส 10% ขณะที่สัดส่วนการลงทุนในอิตาลีมีเพียงเล็กน้อย (ข้อมูล ณ 30 เม.ย 61)
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ตลาดล่าสุด (30 พ.ค. 61) ดัชนีหุ้นอิตาลี (FTSE MIB) ปิดตลาดบวก 2.09% ส่วนตลาดหลักๆในยุโรปอื่นๆ รวมถึงดัชนีดาวโจนส์ และดัชนี S&P 500 ปรับตัวบวกเช่นเดียวกัน เนื่องจากนักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในอิตาลี หลังจากพรรคการเมืองใหญ่ของอิตาลีกำลังจับมือกับพรรคพันธมิตรเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทั้งนี้บลจ.กสิกรไทยยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อการลงทุนในหุ้นยุโรปในระยะยาว เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคยังมีแนวโน้มฟื้นตัวไปในทิศทางเดียวกัน และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนยังเติบโตได้ดีจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่แข็งแกร่ง ประกอบกับระดับราคาหุ้นที่เหมาะสมและยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ทำให้หุ้นยุโรปมีความน่าสนใจมากกว่าในเชิงเปรียบเทียบ
ผู้ลงทุนโปรด "ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน