นายอยุทธ์ เตชะกิจ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มมูลค่าผลผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ (ISMED) กล่าวว่า FDC 2018 เป็นโครงการสร้างนักออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดำริขึ้นเพื่อพัฒนานักออกแบบสำหรับสนับสนุนอุตสาหกรรมแฟชั่น ด้วยการนี้ความคิดสร้างสรรค์เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นไปแข่งขันได้ในระดับสากล สำหรับประเทศไทยนั้นความสามารถเรื่อง การออกแบบก็ไม่เป็นรองใคร แต่การจะรักษาความสามารถการแข่งขันไว้ให้ได้จำเป็นต้องสร้างนักออกแบบให้มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โครงการปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 4 ซึ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มนักออกแบบอิสระ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้เขานำความรู้ความสามารถในการออกแบบมาผนวกกับการตอบโจทย์ในเชิงธุรกิจ ซึ่งกิจกรรมได้ดำเนินมาถึงการคัดเลือกรอบที่ 3 แล้ว เพื่อคัดเลือก 30 ผลงานเด่น เพื่อไปสู่รางวัลชนะเลิศ ในอีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้า เพื่อจะได้รู้กันว่าปีนี้ใครจะเป็นผู้ครอบครองรางวัล FDC2018 ซึ่งรางวัลจะมีทั้งตัวรางวัล และการศึกษาดูงานต่างประเทศ และต่อยอดเชิงธุรกิจ ทำให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมแฟชั่น
ทุกคนที่ได้เข้ามาในโครงการนี้ถือว่าได้เข้ามาเรียนรู้กระบวนการที่สำคัญในเรื่องของการเป็นนักออกแบบมืออาชีพ ได้ทั้งความรู้ ได้ประสบการณ์ในการสัมผัสกับ Fashion Idol และโค้ชที่มีความรู้ความสามารถที่หาไม่ได้จากที่อื่นแต่หาได้จากการประกวดครั้งนี้ ในนามของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ขอขอบคุณผู้สมัครทุกท่านที่ให้ความสนใจ รวมถึงคณะกรรมการ โค้ช Fashion Idol ทุกท่านที่มีส่วนร่วมช่วยผลักดันโครงการนี้ให้ไปสู่ความสำเร็จ หวังว่าถ้ามีโครงการนี้ต่อไปก็อยากจะได้รับความอนุเคราะห์และความสนใจจากทุกท่านอีก
คุณแพง ขวัญข้าว เศวตวิมล เจ้าของแบรนด์ Kwankao หนึ่งใน Fashion Idol ของโครงการนี้ กล่าวว่า ผู้เข้าประกวดปีนี้มีความหลากหลาย มีทั้งมาจากกรุงเทพ ต่างจังหวัด และต่างประเทศ ทำให้เห็นว่ากิจกรรมนี้เป็นที่สนใจจากนักออกแบบจำนวนมาก ทุกคนมีความกระตือรือร้นที่จะเข้ามาทำงานในวงการแฟชั่น และคะแนนตัดสินยากมาก ด้วยความที่งานมีความโดดเด่นแตกต่างหลากหลายสไตล์ เราอยากคัดกรองคนที่มีคุณภาพมากที่สุด คนที่ทำผลงานมาแล้วกรรมการคอมเม้นท์และมีการพัฒนางานต่อไป น้องๆ มีพัฒนาการมากแค่ไหน คนนั้นก็จะเป็นวินเนอร์ในหัวใจกรรมการ
คุณเอก ทองประเสริฐ เจ้าของแบรนด์ Ek Thongprasert ,Curated by Ek Thongprasert หนึ่งใน Fashion Idol ของโครงการนี้ กล่าวว่า ผมเห็นว่าผู้เข้าแข่งขันมีการพัฒนาที่มีความน่าสนใจมากขึ้น แม้บางคนอาจจะยังอยู่กับที่ แต่หลายๆคนมีประสิทธิภาพที่จะพัฒนาเป็น SME ได้ สำหรับสาขาของผมที่ทำเครื่องประดับ หลายๆคนมีศักยภาพในด้านของการทำวัสดุที่น่าสนใจ และมีเทรนด์ที่น่าสนใจอย่างการรีไซเคิลวัสดุ แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่คือรูปแบบที่ยังไม่ตอบโจทย์ตลาดได้มากนัก คือมันยังไม่ถูกขัดเกลา วัสดุโอเค แต่รูปแบบยังไม่โอเค คำแนะนำของผมก็คือการพัฒนารูปแบบที่ควรพัฒนาให้เข้ากับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ซึ่งถ้าเขาสามารถเรียนรู้กระบวนการจากโค้ช ก็จะสามารถทำให้เขาพัฒนาขึ้นได้ต่อไปในอนาคต ที่สำคัญคือดีไซเนอร์ต้องกระตุ้นตัวเองตลอดเวลา
โครงการสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่น 2561(FASHION DESIGNER CREATION 2018 : FDC2018) นับเป็นอีกโครงการที่ภาครัฐเข้ามาช่วยผลักดันเพื่อพัฒนานักออกแบบไทยสู่ความสำเร็จที่จะมาตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น ทำให้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และสามารถก้าวสู่ระดับโลกต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit