สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องดัชนีความเครียดของคนไทย กรณีศึกษา: ตัวอย่างประชาชนทั่วไป ในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,008 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1–25 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา พบว่า
ตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 57.52 เป็นหญิง และร้อยละ 42.48 เป็นชาย เมื่อจำแนกออกเป็นเจเนอเรชั่น พบว่า ร้อยละ 7.17 เป็นเจเนอเรชั่น Z (ตัวอย่างที่มีอายุ 15-18 ปี) ร้อยละ 11.85 เป็นเจเนอเรชั่น M (ตัวอย่างที่มีอายุ 19-24 ปี) ร้อยละ 21.22 เป็นเจเนอเรชั่น Y (ตัวอย่างที่มีอายุ 25-35 ปี) ร้อยละ 30.53 เป็นเจเนอเรชั่น X (ตัวอย่างที่มีอายุ 36-50 ปี) และร้อยละ 29.23 เป็นเจเนอเรชั่น B (ตัวอย่างที่มีอายุ 51-69 ปี) ด้านสถานภาพสมรส พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 51.25 สมรสแล้ว ร้อยละ 39.93 เป็นโสด ร้อยละ 8.42 เป็นหม้าย/หย่า/แยกกันอยู่ และ ร้อยละ 0.40 ไม่ระบุ ส่วนการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุด พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.50 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 32.62 ระดับปริญญาตรี ร้อยละ 5.63 ระดับสูงกว่าปริญญาตรี และร้อยละ 0.25 ไม่ระบุ ส่วนรายได้ส่วนตัวเฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 26.49 มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท ร้อยละ 43.87 มีรายได้ 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 14.54 มีรายได้ 20,001-30,000 บาท ในขณะที่ร้อยละ 14.25 มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท และร้อยละ 0.85 ไม่ระบุ สำหรับอาชีพ พบว่า ร้อยละ 23.61 อาชีพพนักงาน/บริษัทเอกชน ร้อยละ 14.04 อาชีพค้าขายและอาชีพรับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 13.89 เป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.12 อาชีพธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 12.20 อาชีพรับจ้างทั่วไป และร้อยละ 15.10 ประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น พ่อบ้านแม่บ้าน เกษตรกร เกษียณอายุ ว่างงาน พนักงานมหาวิทยาลัย เป็นต้น
คนไทยส่วนใหญ่เครียดเรื่องปากท้องมากที่สุด ...
ผลสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2561 นี้ ในภาพรวมพบว่า คนไทยมีความเครียดคล้ายคลึงกับการสำรวจในครั้งที่ผ่านมาเมื่อต้นปี 2561 โดยคนไทยส่วนใหญ่มีความเครียดในเรื่องสภาพเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องอื่นๆ (ร้อยละ 65.64) รองลงมา คือ เรื่องสภาพแวดล้อม (ร้อยละ 52.59) และเรื่องสุขภาพ (ร้อยละ 43.48) เป็นต้น
ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อพิจารณาความเครียดของคนในแต่ละวัยก็พบว่า คนไทยตั้งแต่วัยเรียน วัยทำงาน จนถึงวัยชรา (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ต่างก็มีความเครียดในเรื่องสภาพเศรษฐกิจมาเป็นอันดับ 1 เหมือนๆ กัน ถึงแม้ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้จะคาดการณ์ว่า แนวโน้มสภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่จากสภาพความเป็นจริงที่คนไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่นับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ราคาน้ำมันและก๊าซที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการต่างจ่อคิวเริ่มจะขยับขอปรับราคาขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงไม่แปลกที่คนไทยส่วนใหญ่จะรู้สึกกังวลและอดที่จะเครียดไม่ได้ว่า สภาพเศรษฐกิจในปีนี้จะดีขึ้นอย่างที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ไว้จริงหรือ?
ความวิตกในเรื่องสภาพแวดล้อมและปัญหาสุขภาพที่ตามมา ...
นอกจากเรื่องสภาพเศรษฐกิจแล้ว รองลงมา คนไทยยังเครียดในเรื่องสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจร (ร้อยละ 63.60) ปัญหาสภาพแวดล้อม เช่น ขยะ น้ำเน่าเสีย เป็นต้น (ร้อยละ 44.17) รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของตนตกต่ำลง
ส่วนความเครียดในเรื่องสุขภาพที่อาจได้รับผลกระทบจากความวิตกกังวลในเรื่องอื่นๆ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คนไทยส่วนใหญ่กำลังประสบอยู่ เนื่องจากเห็นว่า ตนเองมีร่างกายไม่แข็งแรง (ร้อยละ 65.36) มีโรคประจำตัว (ร้อยละ 36.48) และเจ็บป่วย/ไม่สบายบ่อย (ร้อยละ 26.47) เป็นต้น
ช่วยเหลือตัวเอง คือ ทางออกที่พอจะทำได้ ...
จากผลการสำรวจพบว่า เพื่อจะเผชิญหน้ากับสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ คนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้จ่ายอย่างประหยัด โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง (ร้อยละ 50.33) หาอาชีพเสริมและพยายามทำงานให้มากขึ้น (ร้อยละ 14.52) ยอมรับความเป็นจริง มีสติ และพยายามไม่เครียดกับเรื่องเศรษฐกิจ (ร้อยละ 8.73) เป็นต้น
ส่วนความเครียดในเรื่องสภาพแวดล้อมนั้น ก็จะพยายามปล่อยวาง ทำใจยอมรับความเป็นจริง และมีสติ (ร้อยละ 22.80) รู้จักวางแผนการเดินทาง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจร (ร้อยละ 15.98) และหากิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข หางานอดิเรก (ร้อยละ 13.66) เป็นต้น
ผลกระทบที่ผู้เกี่ยวข้องควรพิจารณา ...
เมื่อพิจารณาจากผลสำรวจในครั้งนี้ จะเห็นว่า ปัญหาที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เกิดความเครียด คือ ปัญหาหนี้สิน/รายรับไม่พอกับรายจ่าย สินค้าราคาแพง ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความไม่ซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมือง และปัญหาการจราจร ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้คนไทยเกิดความเครียดต่อปัญหาต่างๆ เหล่านี้น้อยลง ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลทำให้คนไทยส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย (ร้อยละ 62.85) ไม่มีความสุขเลย (ร้อยละ 69.17) และรู้สึกหมดกำลังใจ (ร้อยละ 52.69) ซึ่งความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้ อาจส่งผลทำให้ความสุขและคุณภาพชีวิตของคนไทยถดถอยลงได้ในที่สุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit