ในอดีตหมู่บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช เป็นแหล่งศึกษาดูงานในฐานะพื้นที่ชุมชนเข้มแข็งที่สามารถผ่านภัยพิบัติทางธรรมชาติมาด้วยความร่วมมือร่วมใจของชุมชน มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่งดงาม มีน้ำใจไมตรี เป็นแหล่งภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรม แต่ในระยะหลังโดยเฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คีรีวงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลกันเข้ามาไม่ขาดสายในฐานะพื้นที่ที่มีอากาศดีที่สุดในประเทศไทย แต่ทว่าด้วยขาดการสื่อสารให้เข้าใจในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจในหลายเรื่อง ทั้งการขับขี่รถในพื้นที่ชุมชน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาขยะ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ดังนั้นงาน 'คีรีวง...ดีจังฮู้' ในปีนี้ เด็กและเยาวชนกลุ่มลูกขุนน้ำจึงขอใช้พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสื่อสารเรื่องราวและมุมมองของการท่องเที่ยวในแง่มุมใหม่ไปสู่นักท่องเที่ยว ด้วยการช่วยกันออกสำรวจค้นหาประวัติที่มาของพื้นที่และสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในคีรีวง ทั้งสถานที่เล่นน้ำ ห้องน้ำสาธารณะ ร้านอาหาร แหล่งเรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน เส้นทางที่เหมาะสมกับการขี่รถจักรยาน การขับรถยนต์ส่วนตัวที่ไม่กีดขวางหรือรบกวนการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่ นำมาจัดทำเป็นสื่อสร้างสรรค์ แผนที่ท่องเที่ยวสร้างสุขชุมชนคีรีวง เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีกับนักท่องเที่ยว พัฒนาต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
สุรศักดิ์ ปันทอง แกนนำเยาวชนลูกขุนน้ำ กล่าวว่า กระบวนการทำแผนที่ท่องเที่ยวที่ใช้เวลาร่วมกันกว่า 1 เดือนทำให้พวกเขาและเด็ก ๆ ในชุมชนได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองในหลาย ๆ ด้าน "พวกเราชวนเด็กในชุมชน เด็ก ๆ นักเรียนมัธยมในโรงเรียนออกไปสำรวจพื้นที่รอบคีรีวง แบ่งกันเป็น 3 ทีม เดินสำรวจไปตามเส้นทางแม่น้ำ 3 สายหลักของคีรีวง แล้วเอาข้อมูลที่แต่ละทีมได้มารวมกัน นั่งสังเคราะห์ด้วยกันจนออกมาเป็นแผนที่ กระบวนการนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ประวัติหมู่บ้านเพิ่มขึ้น บางทีน้อง ๆ เป็นเด็กที่เกิดในยุคนี้ โตขึ้นมาไม่เคยมีใครเล่าประวัติของพื้นที่ให้ฟัง อย่างผมแม้จะโตมาที่นี่แต่ก็รู้แค่ 25% พอไปเจอผู้เฒ่าผู้แก่ บางอย่างก็เพิ่งรู้ ก็ถือว่าได้เรียนรู้ไปกับน้อง ๆ สำหรับแผนที่ท่องเที่ยวสร้างสุขชุมชนคีรีวง จะถูกนำไปเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ และมอบให้กับทุกคนที่มาเที่ยวงาน 'คีรีวง...ดีจังฮู้'"
สุภิญญา บุญเฉลย ผู้ประสานงานกลุ่มลูกขุนน้ำ กล่าวว่า "งานคีรีวง...ดีจังฮู้ถือเป็นงานที่เป็นของเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง เพราะเด็ก ๆ จะเป็นคนริเริ่มสร้างสรรค์กระบวนการทั้งหมดด้วยตัวเอง สิ่งที่โดดเด่นของงานนี้คือ
เราออกแบบเป็นพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็กและครอบครัว ในงานมีอาหาร มีศิลปะ เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้แต่ไม่รู้สึกว่าเป็นห้องเรียน แต่รู้สึกเหมือนมาเที่ยวเล่น มาทำอะไรสนุก ๆ แล้วได้แรงบันดาลใจดี ๆ กลับไปเป็นต้นทุนในชีวิตของตัวเอง คนในชุมชนก็ได้มาใช้พื้นที่ตรงนี้สังสรรค์ พบปะพูดคุยกัน คนนอกชุมชนอย่างนักท่องเที่ยว พอได้มาเจองานนี้
ก็ได้เชื่อมโยงกับชุมชน มองเห็น และเข้าใจคีรีวงได้ดีมากยิ่งขึ้น ในปีนี้ความพิเศษอีกอย่างก็คือกติกาน่ารัก ๆ ที่ให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคนช่วยกันเก็บขยะคนละ 1 ชิ้นเพื่อมาเป็นบัตรผ่านงาน ภายในงานยังมีซุ้มสอนแยกขยะรีไซเคิลเพื่อให้ความรู้กับชุมชนและนักท่องเที่ยว มีกิจกรรมให้ได้ลงมือทำอาหารที่เป็นของดีในชุมชน เช่น มังคุดกวน ลูกชุบ โรตี ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนได้มอบ 'พาย' ซึ่งเป็นชื่อของกระเป๋าผ้ารูปร่างสี่เหลี่ยมปลายผูกมุม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนคีรีวงให้กับเยาวชน เสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการส่งมอบมรดกทางวัฒนธรรมให้กับคนรุ่นใหม่อีกด้วย "
กิตติ เชาวนะ ที่ปรึกษากลุ่มเยาวชนลูกขุนน้ำ เป็น 1 ในคนที่ได้เข้ามารู้จักและสัมผัสวิถีชีวิตคีรีวงตั้งแต่เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เกิดความรู้สึกประทับใจ จนปัจจุบันเข้ามาใช้ชีวิตผูกพันจนเสมือนเป็นคนในชุมชนแห่งนี้ กิตติมองว่าการจัดงานคีรีวง...ดีจังฮู้ เป็นเหมือนงานสร้างสรรค์ที่ย้อนเอาภาพวิถีชีวิตที่งดงามแบบเดิมของของคีรีวงให้กลับมาอีกครั้ง
"ผมว่าคีรีวงดีจังฮู้ เป็นงานที่สร้างขึ้นแล้วความหมายโดยรวมเป็นไปในทางสร้างสรรค์ เป็นภาพย้อนของวิถีชีวิตแบบเดิมที่เกิดขึ้นมาระหว่างการทำงาน มีการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น ในระหว่างที่เด็ก ๆ ช่วยกันสร้างแผนที่ พวกเขาได้ค้นเจอชื่อและความหมายของสถานที่หลายอย่างที่เดิมเคยมีแต่มันหายไป วันนี้ชื่อและความหมายเหล่านี้ได้กลับมาสื่อสารกับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งดี ๆ ของคีรีวงที่มากกว่าแค่อากาศดี ๆ หรือมุมเช็คอินที่นักท่องเที่ยวรู้จักหรือคาดหวังว่าจะมาเจอ กิจกรรมแบบนี้ยังเอื้อให้คนในพื้นที่ได้มาช่วยกันคิดว่า วันนี้เราจะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับคีรีวงมากที่สุด เหมือนที่เด็ก ๆ ที่นี่เคยสะท้อนความคิดว่า เขาอยากให้นักท่องเที่ยวมาแล้วรู้จักคีรีวงในฐานะชุมชนเข้มแข็ง"
อย่างไรก็ตามในวันนี้ที่โลกเปลี่ยน ชุมชนคีรีวงเองก็ไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามา ในทางตรงกันข้าม พวกเขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้สอดคล้องกับสังคมใหม่ แต่ทุกอย่างจำเป็นต้องเป็นไปอย่างสอดคล้อง และรู้เท่าทัน
"โลกมันต้องเปลี่ยนอยู่แล้ว มันคงต้องอยู่กับเทคโนโลยีมากขึ้น ความสัมพันธ์ในชุมชนอาจจะเปลี่ยนรูปแบบไป เราอาจคุยกันผ่านสังคมออนไลน์มากยิ่งขึ้น พบปะกันน้อยลง แต่หัวใจของความเป็นชุมชนยังคงอยู่ เราไม่เคยปฏิเสธเทคโนโลยี เราเชื่อว่าสิ่งดี ๆ ที่ชุมชนคีรีวงมี ถ้าแทรกในสื่อใหม่ ๆ มันก็น่าจะเกื้อเพื่อประโยชน์ต่อสังคมได้มากกว่า แต่เพียงแต่เราต้องอย่าตกเป็นเหยื่อ เราต้องรู้เท่าทัน" สุภิญญา บุญเฉลย ผู้ประสานงานกลุ่มลูกขุนน้ำ กล่าวสรุปทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit