กิจกรรม Plogging วิ่งเก็บขยะ มีที่มาจากคำว่า Jogging + Picking up หรือ Plocka Upp ในภาษาสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่จัดการวิ่งประเภทนี้ในปี พ.ศ 2559 ก่อนจะได้รับความนิยมไปทั่วโลก หมายถึงการ "วิ่งไป เก็บขยะไป" ที่มีประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพของผู้วิ่งและส่วนรวมคือชุมชนสะอาด
คุ้งบางกะเจ้า ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ ยังคงสภาพป่าชายเลนธรรมชาติที่มี ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยได้รับยกย่องจาก Time ฉบับ The Best of Asia 2006 (พ.ศ.2549) ให้เป็น The Best Urban Oasis of Asia หรือเป็นโอเอซิสเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย จึงเป็นแหล่ง Blue Carbon สำคัญ ซึ่งสามารถถ่ายทอดเรื่อง Blue Carbon และการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนเมือง ธรรมชาติ ท้องทะเล และชายฝั่งได้เป็นอย่างดี แต่หลังจากตลาดน้ำบางน้ำผึ้งที่ชาวบ้านช่วยกันพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวตั้งแต่ปี พ.ศ 2547 ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พบปริมาณขยะเฉลี่ยอยู่ที่ 8,000 กิโลกรัมต่อวัน เพิ่มเกือบเท่าตัวจากปริมาณเฉลี่ยเดิมที่ 4,500 กิโลกรัมต่อวัน
องค์การบริหารส่วนตำบลบางกะเจ้าเปิดเผยว่า สัดส่วนขยะที่พบมากที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่ ถุงพลาสติก 40% ขยะอินทรีย์ 26% ขยะรีไซเคิล (แก้ว และกล่องนม) 24% ขยะมูลฝอยทั่วไป 8% และขยะอันตราย 2% คุ้งบางกะเจ้าจึงมีความเสี่ยงต่อการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปสู่ระบบนิเวศทางทะเล ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ชุมชนและทุกฝ่ายต้องเริ่มต้นดูแลและฟื้นฟูพื้นที่บริเวณคุ้งบางกะเจ้า ให้ลดความเสี่ยงต่อปัญหาปริมาณขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยมีการปล่อยขยะลงสู่ท้องทะเลถึงกว่า 1 ล้านตันต่อปี
"การจัดกิจกรรม Blue Plogging วิ่งเก็บขยะ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ Blue Carbon Society มุ่งมั่นให้เป็นแนวทางในการปกป้องท้องทะเล ภายใต้พันธกิจของสมาคมฯ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่งทะเล ในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงปกป้อง อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งให้มีความสมดุล"
"ลองคิดดูว่าโดยเฉลี่ย 1 คน วิ่งเก็บขยะได้ประมาณ 2 กิโลกรัมภายในครึ่งวัน ถ้าคนไทยทั้งประเทศกว่า 60 ล้านคน ช่วยกันวิ่งเก็บขยะ ก็จะช่วยลดปริมาณขยะได้มากถึง 120 ล้าน กิโลกรัม นี่คือพลังสังคมที่ลุกขึ้นมาปกป้องท้องทะเลร่วมกับ Blue Carbon Society ได้" ดร.ชวัลวัฒน์กล่าว
ทางด้านคุณทิพพาภรณ์กล่าวเสริมว่า กิจกรรม plogging ลดขยะบนบกเพื่อป้องกันขยะไหลลงสู่ทะเล ถือเป็นปฐมบทแห่งการดูแลรักษา ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง
"สิ่งสำคัญที่ได้รับตามมาคือการต่อชีวิต ยืดอายุสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ทั้งเต่าทะเล พะยูน โลมา แมงดาทะเล ให้อยู่ในท้องทะเลอย่างที่ควรจะเป็น เพราะเมื่อสัตว์ทะเลเหล่านี้ไม่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติก ในทะเล ก็จะอยู่ในระบบนิเวศท้องทะเลอย่างสมดุล ทำให้มีพื้นที่ Blue Carbon เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์เพิ่มขึ้นโดยปริยาย" คุณทิพพาภรณ์ กล่าว
ร่วมปกป้อง ดูแลรักษาท้องทะเล ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กับ Blue Carbon Society
#วันนี้ คุณวิ่งเก็บขยะหรือยัง !!! #บลูคาร์บอนโซไซตี้ #BlueCarbonSociety #ร่วมปกป้องท้องทะเล