ผู้เดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิจะได้เห็นสื่อบิลบอร์ดของทูตองค์กรไวล์ดเอดทั้ง 2 ท่าน ภายในอาคารผู้โดยสารขาเข้า ทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ รวมถึงบริเวณจุดรับกระเป๋า รวมทั้งหมด 33 ป้าย จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2561 โดยสื่อรณรงค์ของนายเจย์ โจว ต้องการให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการปกป้องทะเล ด้วยการเลิกบริโภคซุปหูฉลาม และเมนูที่ทำจากฉลาม ขณะที่บิลบอร์ดของนายเหยา หมิง ที่ยกกำปั้นชนกับงวงช้าง เป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในประเทศจีน ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะที่มีต่อช้าง หลังจากที่จีนยุติการค้างาช้างในประเทศแล้วเมื่อต้นปี 2561 ส่วนสื่อในสนามบินสุวรรณภูมิ นายเหยา หมิงเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวไม่ซื้องาช้างในไทย เพราะการนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ออกนอกประเทศถือว่าผิดกฎหมาย โดยมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สนับสนุนงานรณรงค์ลดความต้องการ ผลิตภัณฑ์งาช้างร่วมกับองค์กรไวล์ดเอด เพื่อเป็นไปตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย
ความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้างกระตุ้นวิกฤตการฆ่าช้างเอางาในทวีปแอฟริกามากถึง 33,000ตัวต่อปี เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลหลายประเทศเดินหน้าปิดตลาดค้างาช้างในประเทศแล้ว ขณะที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องช้าง ซึ่งรวมถึงการออกพระราชบัญญัติงาช้าง และแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ช้างแอฟริกันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามการซื้อขาย ผลิตภัณฑ์งาช้างแอฟริกันในไทย "ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะหยุดยั้งการค้าผลิตภัณฑ์งาช้างผิดกฎหมาย เราเชื่อว่า การปราบปรามการค้างาช้างผิดกฎหมายนั้น จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการลดความต้องการ ผลิตภัณฑ์งาช้าง กรมอุทยานฯ ขอร่วมสนับสนุนองค์กรไวล์ดเอดในการลดความต้องการงาช้างกับนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาไทย ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการงาช้างของรัฐบาล และแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทย
ที่จะปกป้องช้างทั่วโลกอีกด้วย" นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยาน ในขณะที่รายงานเรื่อง "ฉลามเผชิญวิกฤต : ภัยคุกคามจากตลาดใหม่" - "Sharks in Crisis: Evidence of Positive Behavioral Change in China as New Threats Emerge" ขององค์กรไวล์ดเอดที่ออกเมื่อเร็วๆนี้ ได้เผยให้เห็นถึง แนวโน้มการบริโภคผลิตภัณฑ์จากฉลามในหลายๆ ประเทศที่กำลังขยายตัว อย่างไทย เวียดนาม อินโดนิเซีย และมาเก๊า ในขณะที่ผลสำรวจพบชาวจีนแผ่นดินใหญ่บริโภคหูฉลามน้อยลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความตระหนัก ให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของฉลามที่มีต่อท้องทะเล โดยในแต่ละปี มีฉลามราว 100ล้านตัวถูกฆ่า และครีบจากฉลามมากถึง 73 ล้านตัวถูกนำไปทำเป็นซุปหูฉลาม หรือเมนูจากฉลามอื่นๆ ประเทศไทยมีแนวโน้มจะเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญ โดยคนไทยจำนวนมากไม่ทราบถึงความสำคัญของฉลามที่มีต่อท้องทะเล และการกระทำอันโหดร้าย เบื้องหลังเมนูหูฉลาม ที่ฉลามถูกลากขึ้นมาเพื่อเฉือนครีบของมันออกทั้งหมด ก่อนจะถูกโยนทิ้งกลับลงสู่ทะเล ซึ่งทำให้ฉลามเหล่านั้นต้องจมน้ำตายทั้งเป็น เนื่องจากสูญเสียครีบอันเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต
ผลสำรวจขององค์กรไวล์ดเอดพบว่า เมื่อผู้บริโภคได้ตระหนักถึงความโหดร้าย และความสำคัญของฉลามแล้ว พวกเขาพร้อมที่จะเลิกบริโภคเมนูจากฉลาม โดยโครงการรณรงค์ด้านฉลามขององค์กรไวล์ดเอด ที่นำโดยทูตองค์กรอย่าง นายเฉิน หลง และนายเหยา หมิงในประเทศจีน มีส่วนช่วยลดความต้องการบริโภคหูฉลามลงถึง 80% ตั้งแต่พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา
"การได้รับการสนับสนุนจากทูตองค์กรที่มีชื่อเสียงทั่วโลก พันธมิตรสื่อ และภาครัฐในหลายประเทศ อย่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ของประเทศไทย ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ภารกิจหลักขององค์กร นั่นคือ การยุติการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายบรรลุผล และด้วยความอนุเคราะห์และสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทำให้สื่อรณรงค์ของเรา เข้าถึงสาธารณชนมากขึ้น และหวังว่าจะหยุดยั้งความต้องการของมนุษย์ที่เป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ป่าได้ เพราะหยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า" นายจอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด กล่าว
เกี่ยวกับ WildAid
WildAid (www.wildaid.org) คือ องค์กรไม่แสวงผลกำไร มีเป้าหมายหลักเพื่อยุติการค้าสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า ผิดกฎหมาย WildAid เน้นรณรงค์เพื่อลดความต้องการบริโภค และความต้องการ ซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า โดยเราหวังว่า ผู้บริโภคจะไม่กินหูฉลาม ไม่ซื้องาช้าง นอแรด และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าอื่นๆ อีกต่อไป
WildAidได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกกว่า 100 คน ร่วมเผยแพร่ข้อความรณรงค์ ให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหา การฆ่าและค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ผ่านสโลแกนหลักขององค์กร "When the Buying Stops, the Killing Can Too หยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า
เราทำงานรณรงค์ที่เอเชียเป็นหลัก ในประเทศที่ยังมีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าสูง และได้ทำโครงการรณรงค์ Ivory Free หยุดซื้องาช้างในประเทศจีน ฮ่องกง และล่าสุดในไทย
www.wildaidthai.org www.facebook.com/wildaidthailand IG: @wildaidthailand
HTML::image(