กว่า 1 ปี ที่ทางน้องๆ กลุ่มตลาดน้อย ได้เรียนรู้ในพื้นที่จริง ทักษะที่เรียนมาทั้งหมดได้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการทำงานชุมชน เช่น การเดินสำรวจและพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อทำแผนที่เดินดิน การสังเกตและสัมภาษณ์ การหาความต้องการของคนในชุมชนผ่านการวิเคราะห์(SWOT Analysis) ตลอดจนการจัดกระบวนการเปิดพื้นที่ให้สมาชิกในชุมชนมาแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ในมุมมองของตนเองจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง จนตกตะกอนเป็นโครงการ "Wall Street Art" ที่สื่อวิถีชีวิตของชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากเหล่าศิลปินทั้งไทยและต่างชาติมาร่วมสร้างสรรค์งานศิลป์ในครั้งนี้
"น้องมะปราง" ปิยธิดา ชินราช หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม ให้ข้อมูลว่า "จริงๆ มันมีประเด็นมากมายที่พวกเราเห็นว่าน่าสนใจ ทั้งเรื่องสุขภาพ เซียงกง หรือธุรกิจโฮสเทล ซึ่งเราเองก็พยามยามมองทั้งภาพของคนภายนอก ด้วยการทำข้อมูลดูรีวิวต่างๆ ซึ่งเห็นว่านักท่องเที่ยวนั้นให้ความสนใจกับตัว Wall Street Art ที่มีอยู่เดิมของชุมชน แต่ในมุมของคนภายในที่ทำงานร่วมกับเจ้าของพื้นที่ ชุมชนกลับมีภาพลบกับ Wall Street Art เพราะมองว่าไม่ได้สื่อหรือเกี่ยวข้องอะไรกับวิถีชุมชนเลย สอดคล้องกับการทำ SWOT ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้อยู่ในจุดแข็ง ไม่ได้อยู่ในโอกาส แต่กลับอยู่ในส่วนของภัยคุกคาม"
ทางด้านตัวแทนนักศึกษาจากกลุ่มตลาดน้อยอีกคนหนึ่ง"น้องใบตาล" จิดาภา วิทยาพิรุณทอง เสริมว่า "จากการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านหลายครั้ง ทำให้เราทราบว่าชุมชนเองอยากถ่ายทอด "ประวัติศาสตร์" ซึ่งเป็นความภูมิใจสูงสุดของพวกเขา เราจึงนำจุดนี้มาเป็นโจทย์และใช้ต้นทุนเดิมที่ชุมชนมีอยู่แล้วและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวก็คืองาน "Wall Street Art" มารวมกัน ให้กลายเป็นงานศิลปะบนกำแพงที่ถ่ายทอดวีถีชีวิต เรื่องราวของชาวชุมชนตลาดน้อยออกมาให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากชุมชนเป็นอย่างดี"
แม้ว่าการลงพื้นที่ของน้องๆ นับครั้งไม่ถ้วนจะสร้างความมั่นใจว่า น้องๆรู้จักชุมชนแห่งนี้ดีพอสมควร แต่การเรียนรู้ผ่านการทำงานร่วมกับชุมชนจริงๆ กลับไม่ง่ายนัก เมื่อโจทย์ใหญ่ของชุมชนตลาดน้อย คือ ความละเอียดอ่อนในเรื่องชนชาติ และคำถามของชาวบ้านบางส่วนที่สงสัยว่าชุมชนจะได้อะไรจากโครงการนี้
มะปราง อธิบายว่า "เนื่องจากในพื้นที่มีทั้งทั้งคนไทย จีนฮกเกี้ยน จีนแคะ รวมถึงบริบทการปกครองของชุมชนที่ให้สิทธิ์การดูแลพื้นที่สาธารณะแก่บ้านบริเวณใกล้เคียง ดังนั้น การประชุมหรือทำงานร่วมกับชาวบ้านจึงต้องมีการใส่ใจในรายละเอียดเป็นพิเศษ อีกทั้งตลาดน้อยยังมีหน่วยงานจำนวนมากที่เข้ามาทำโครงการจนได้ผลลัพธ์ตามต้องการแล้วจากไป โดยไม่ได้ทิ้งหรือให้ประโยชน์อะไรกับชุมชน สิ่งนี้จึงกลายเป็นกำแพงเบื้องต้นในการทำงานของพวกเรา การลงมือทำจริงให้ชาวบ้านเห็นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเริ่มเปิดใจต้อนรับเราอย่างเต็มที่"
ในวันที่โครงการสำเร็จ "ศิลปะบนกำแพง" ได้ปรากฏชัดให้นักท่องเที่ยวได้เสพความงามที่แฝงไปด้วยประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าและมาจากสิ่งที่ผู้คนในชุมชนตลาดน้อยต้องการสื่อสารสู่สังคมภายนอก สมาชิกในชุมชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของกับงานศิลปะที่เกิดขึ้นจากเรื่องราวของพวกเขาเอง และเป็นวันที่น้องๆ ปี 2 กลุ่มตลาดน้อย ได้ผ่านพ้นก้าวแรกของการเรียนรู้และแก้ปัญหาจากการทำงานในพื้นที่จริง
"การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า" "การปรับตัวและเอาใจใส่คนทำงานร่วมกัน" คือสิ่งที่น้องๆ ในกลุ่มสะท้อนออกมาว่าเป็นสิ่งล้ำค่าจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงในการทำงานในพื้นที่จริงโดยใช้ชุมชนเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ ทำให้เห็นว่าตนเองยังขาดและต้องเติมเต็มทักษะหรือทฤษฎีในส่วนไหนบ้าง ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองต่อไปได้ในฐานะ "นักขับเคลื่อนการเรียนรู้" ที่จะไปสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อไป
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit