ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสภาปัญญาสมาพันธ์ กล่าวว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา เรื่อง "ดัชนี" ได้ถูกสร้างขึ้นและประกาศในวาระต่างๆ จากทั่วโลก เพื่อช่วยวัดสถานะเรื่องต่างๆ นำมาเปรียบเทียบกัน ถูกหยิบมาใช้ประโยชน์ และขยายผลจนนำไปสู่การพัฒนาในด้านต่าง ๆ มากมาย สำหรับประเทศไทยดัชนีเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการวัดในเชิงปริมาณทำให้สามารถเปรียบเทียบ จัดอันดับ จัดกลุ่ม และเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ตรรกะ หลักทฤษฎีและแนวคิดที่ดี โดยเฉพาะมีความใจกว้างมากพอที่จะยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นต่องานวิจัยซึ่งสำคัญมาก สภาปัญญาสมาพันธ์ จึงจัดงานสัมมนาเพื่อทำการอภิปรายเรื่อง "ดัชนีประสิทธิผลระหว่างประเทศ" ในครั้งนี้ เพื่อหวังให้เกิดความคิดเห็น การวิพากษ์ ถกเถียง หรือข้อเสนอแนะต่างๆ ที่มาจากองค์กร หน่วยงานมากมายที่เข้าร่วม อันจะส่งผลลัพธ์ในทางบวกที่จะทำให้ประเทศได้พัฒนาดีขึ้น แต่ทั้งนี้ หากงานวิจัยชิ้นนี้ได้จัดทำได้อย่างดีแล้ว สภาปัญญาสมาพันธ์หวังว่าทุกท่านจะนำไปใช้เป็นประโยชน์เพื่อทำให้เกิดผลดีต่อ ชุมชน องค์กร สังคม และประเทศชาติของเราต่อไป
"การพัฒนาดัชนีประสิทธิผลระหว่างประเทศ" เป็นดัชนีที่วัดความก้าวหน้าของการพัฒนา โดยเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ควรจะไปให้ถึง ทำการเปรียบเทียบประสิทธิผลระหว่าง 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ และไทย เพื่อเปรียบเทียบการพัฒนาในด้านต่างๆ ครอบคลุมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การศึกษา สุขภาพ ความปลอดภัย ความมั่นคงและการดำเนินงานของ 3 ภาคประชาสังคม ได้แก่ ภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ทางสภาปัญญาสมาพันธ์ เชื่อว่า การทำดัชนีให้ดีที่สุดเป็นการออกแรงที่ไม่สูญเปล่า เพราะจะช่วยในการบริหารจัดการได้ และยังเป็นการตั้งเป้าที่เป็นรูปธรรมที่วัดได้ ทำให้รู้ว่าเราจะไปถึงได้หรือไม่ และไปถึงเมื่อใด การเข้าใจถึงสถานะปัจจุบัน เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับอดีตที่ผ่านพ้นมาแล้วหรืออนาคตอันใกล้ จึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่หวังดีต่อส่วนรวม เพราะการใช้ดัชนีเพื่อประเทศไม่มีองค์กรใดได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียวแต่จะได้ประโยชน์ทั้งประเทศ เพราะดัชนีเป็นกลไกที่ช่วยผลักดันให้เกิดการกำหนดเป้าหมายที่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนของการพัฒนาในด้านต่างๆ ซึ่งทำให้ทราบน้ำหนักความสำคัญหรือความเร่งด่วนที่ประเทศให้แก่แต่ละเป้าหมายการพัฒนา ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมียุทธศาสตร์ อันจะมีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยพัฒนาในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิผลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่วนในอนาคตเรามีแผนที่จะขยายจาก 6 ประเทศเป็น 10 ประเทศในปี 2561 นี้ ได้แก่ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และ เมียนมาร์ ต่อไป"
ด้าน อาจารย์ทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัยในเรื่องนี้ กล่าวว่า เนื่องจากกลุ่มอาเซียนเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้และมีบทบาทอันสำคัญมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในการเชื่อมโยงประเทศไทยในด้านการค้า เราจึงได้ทำการเปรียบเทียบประสิทธิผล อย่างน้อยก็เพื่อได้รู้ว่าประเทศที่สำคัญสำหรับเราอยู่สถานะใดร่วมกับเรา ก่อนที่จะขยายไปสู่การเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป
"สำหรับประสิทธิผลการพัฒนาใน 6 ประเทศอาเซียนดังกล่าว พบว่า ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีความโดดเด่นเป็นอันดับที่ 1 ได้คะแนนสูงสุด 61.60% หมายความว่าเราทำได้ตามเป้าหมายในเรื่องเศรษฐกิจนี้ไปได้เกือบถึงร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งภายในประกอบด้วยเรื่องของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพและความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ โดยในด้านความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเราทำได้ดีโดยเฉพาะในหมวด "การสร้างนวัตกรรม" เนื่องจากในปีที่ผ่านมาเรื่องค่าใช้จ่ายในเรื่องนวัตกรรมเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนในด้านความเท่าเทียมเราทำได้ดีมากหากย้อนไปดูตัวเลขในเรื่องนี้เพราะได้มีการปรับปรุงในช่วงที่ผ่านมา สำหรับภาพรวมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมเปรียบเทียบกับกลุ่มอาเซียนปัจจุบันในตารางเราอยู่ในตำแหน่งกลาง คือสถานะกลาง เพราะมีการปรับปรุงในเรื่องนี้ค่อนข้างดี ซึ่งทิ้งห่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ในตำแหน่งล่างกว่ามาก ส่วนมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ซึ่งอยู่ในสถานะบน อาจเนื่องมาจากประชากรมีรายได้ต่อหัวต่อปีมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียนทำให้อยู่ในสถานะนี้มาตลอดนั่นเอง"
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ สภาปัญญาสมาพันธ์ (WISDOM COUNCIL) โทรศัพท์ 084-522-4424 อีเมล์: [email protected] หรือเข้าไปที่ http://www.wisdomcouncilthailand.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit