ในครั้งนี้ได้ร่วมพูดคุยกับอาจารย์พูนผล อรุณรักถาวร ผู้อำนวยการ หอสมุดดนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งดูแลมูลนิธิหอสมุดดนตรี ด้วยเช่นกัน เพื่อนำเสนอเรื่องราวอันทรงคุณค่าของการดนตรี ความเป็นมา พันธกิจของหอสมุดดนตรีในการเป็นสถานที่ร่วม ถ่ายทอดพระอัจฉริยะภาพด้านดนตรี ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้กับเยาวชน ผ่าน "รถโมบายมิวสิคหรือรถศูนย์ข้อมูลดนตรี" มาให้ประชาชนผู้สนใจได้เข้าชมพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของในหลวงรัชกาลที่ 9
รถศูนย์ข้อมูลดนตรี ได้รวบรวมแหล่งข้อมูลที่สำคัญและทรงคุณค่าด้านประวัติศาสตร์การดนตรีจากหอสมุดแห่งชาติเอาไว้มากมาย เช่น เพลงจากแผ่นเสียงที่หาฟังยากทั่วโลก ตั้งแต่ยุคที่เริ่มมีการบันทึกแผ่นเสียง จนถึงยุคปัจจุบันกว่า 500,000 เพลง รวบรวมข้อมูลของบทเพลงสำคัญที่ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการเริ่มฟังเพลงของชนชาติไทย เช่น เพลงบุหลันลอยเลื่อน ที่หลายคนอาจจะไม่เคยทราบมาก่อนว่าเพลงนี้เคยถูกใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีในยุคสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้น
นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่รวบรวมเรื่องราวของดนตรีทั่วไป รถศูนย์ข้อมูลดนตรียังมีจุดประสงค์ที่จะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ และพระอัจฉริยภาพทางการดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอาไว้อีกด้วย รวมไปถึงเกร็ดข้อมูลเกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ เช่น ความเป็นมาของบทเพลง "แผ่นดินของเรา" ที่เริ่มต้นจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ในโอกาสที่เจ้าหญิงอเล็กซานดรา แห่งเคนท์ สหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทยในปี พ.ศ. 2502"ข้อมูลอันทรงคุณค่าไม่ได้ถูกจัดเก็บเอาไว้แค่ในหอสมุดแห่งชาติเพียงอย่างเดียวแล้วเท่านั้น รถศูนย์ข้อมูลดนตรี จะช่วยเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความรู้เรื่องราวเหล่านี้ให้กับเยาวชนคนไทยได้ทั่วประเทศ สืบทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นตลอดไป และยังสามารถเป็นศูนย์กลางของการจัดกิจกรรมในแต่ละครั้ง"
ด้วยความสามารถในการเป็นเครื่องปั่นไฟในตัว และเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย สร้างความสนใจให้กับผู้คนที่พบผ่านไปมาได้อย่างง่ายดาย ซึ่งรถศูนย์ข้อมูลดนตรีเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.2559 เป็นต้นมา โดยทดลองการบริการกับ 3 สถาบันการศึกษา อันได้แก่ โรงเรียนไกลกังวล โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นลำดับแรก ก่อนจะเริ่มเดินทางไปตามพื้นที่และโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศตามความตั้งใจของมูลนิธิ
หอสมุดดนตรี เป็นหน่วยงานที่ไม่มีรายได้ ในส่วนการเพิ่มรายได้เพื่อนำมาบริหารจัดการ มาจากกิจกรรมการจำหน่ายเสื้อ และการจัดคอนเสิร์ตการกุศลในโอกาสต่างๆ และกิจกรรมต่างๆ ที่จะเพิ่มขีดความสามรถทางดนตรีที่เพิ่มขึ้น อาทิ การจัดอบรมทฤษฎีดนตรีสากล ให้กับประชาชนที่สนใจจำนวน 125 ท่าน โดยผู้เข้าอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และได้รับความอนุเคราะห์ค่าใช้จ่ายจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ยังมีอีกหลายเรื่องราวของหอสมุดดนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สามารถกดไลค์ติดตามเรื่องราวเพิ่มเติมได้ทาง เฟสบุ๊คของมูลนิธิหอสมุดดนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และเว็บไซด์ www.kingramamusic.org
สามารถดาวน์โหลด แอฟพิเคชั่น R Radio Network ได้ทั้งในระบบ IOS และ Android รับฟังเรื่องราวจากคนอาชีวะ R Radio Network ได้ทุกวัน