แต่วันนี้เมืองไทยเริ่มตั้งไข่ประเด็นนี้อย่างจริงจัง ด้วยพันธกิจ 'ประเทศไทยปักหมุด...หยุดเชื้อดื้อยา' พร้อมเชื้อเชิญผู้เกี่ยวข้องมาถกประเด็นในเวที 'แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย : จากยุทธศาสตร์สู่การลงมือทำ' เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมแกรนด์ มิราเคิล คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
หนึ่งในภารกิจหนึ่งที่แผนยุทธศาสตร์ต้องเร่งดำเนินการ คือการรวบประเด็นดื้อยาให้มาอยู่ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน ทั้งเรื่องคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ทว่าต้องยอมรับว่าในบ้านเราประเด็นนี้ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้เป้าอัตราการป่วยจากเชื้อดื้อยาต้องลดลง อย่างน้อยร้อยละ 50 แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
หากอยากสำเร็จ สิ่งแรกที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการเสียก่อน คือ 'การจัดการข้อมูล' ไม่ถึงจะตั้งเป้ามาแล้ว แต่ความจริงคือ เมืองไทยไม่เคยสรุปปัญหาการดื้อยาอย่างละเอียดว่า มีจำนวนผู้ที่มีปัญหาดื้อยาเท่าใด ที่สำคัญคือต้องทำอย่างไรถึงจะลดปัญหาได้ รวมไปถึงปริมาณการลดควรเป็นอย่างไร เพราะข้อมูลสถิติเหล่านี้จะเป็นหัวใจหลักที่ทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกลับวิเคราะห์และสืบค้นฐานทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่ เพื่อนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายและแผนยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง
ที่สำคัญการทำงานต้องเน้น 'คนทำงาน' เป็นหลัก หากหยิบยกมิติของเรื่องคนมานำเสนอ โรงพยาบาลก็คงเปรียบเสมือนด่านแรกที่จะต้องมีวิธีรีบมือกับการดื้อยาอย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ คือการพัฒนาทีมงาน ตั้งแต่ แพทย์ นักจุลชีววิทยา เภสัชกร ระบบควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ให้แข็งแกร่งและสามารถททำงานสอดประสานกันเป็นอย่างดีอีกปัจจัยคือการพัฒนาห้องวิจัย ปัจจุบันห้องวิจัยทางการแพทย์มีทั้งระดับชาติ อย่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และระดับรองลงมาคือโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งการจะทำให้แผนยุทธศาสตร์สำเร็จ ห้องวิจัยจะต้องมีมาตรฐานที่เพียงพอและสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว เพราะยิ่งมีประสิทธิภาพก็จะลดอัตราการเสียชีวิตได้รวดเร็วขึ้น ที่สำคัญต้องจัดทำฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันไปมาได้ เพราะห้องวิจัยของแต่ละโรงพยาบาลมีขีดความสามารถที่แตกต่างกัน การเข้าถึงข้อมูลร่วมกันจะนำไปสู่การส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็วจะนำไปมาซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่แม่นยำยิ่งขึ้น
นอกจากการสร้างระบบข้อมูลแล้ว การควบคุมการกระจายยาอย่างเหมาะสมก็เป็นอีกยุทธศาสตร์สำคัญของแผน เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการดื้อยามากมาจากพฤติกรรมการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้อง และไม่มีความรู้ที่เพียงพอ เช่น บางคนยังเข้าผิดว่ายาปฏิชีวนะสามารถรักษาโรคที่ติดเชื้อไวรัสได้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล ร้านขายยา ต้องมีมาตรการรับมืออย่างรอบด้าน และเท่าทันกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
ตัวอย่างหนึ่งที่ทำได้ทันที คือการจัดทำหลักเกณฑ์การจัดประเภทยา ซึ่งเน้นความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับ เป็นสากล และมีเหตุผลชัดเจน คืออย่างน้อยๆ ก็ต้องกำหนดระดับผู้สั่งใช้ยาให้ชัดเจนว่าเป็นแพทย์ เภสัชกร หรือบุคคลทั่วไป มีกลไกในการจ่ายยาที่เหมาะสม เช่นยาบางประเภทต้องสั่งจ่ายตามใบรับรองแพทย์เท่านั้น หรือยาบางประเภทสำหรับสถานพยาบาลเท่านั้น รวมไปถึงคำแนะนำและการแจ้งเตือน เพื่อประชาชนรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ตลอดจนกำหนดหรือปรับแก้กฎหมายให้เท่าทันและสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการจัดการเชื้อดื้อยาในประเทศไทย
ที่สำคัญคือการรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติเกี่ยวกับการใช้ยาแก่ผู้เกี่ยวข้อง เพราะถือเป็นหนทางของความสำเร็จในระยะยาว โดยก่อนอื่นต้องยอมรับว่า การซื้อยาทุกวันนี้บางครั้งก็เกิดจากความเคยชิน หรือการคาดเดาโดยไม่ได้อาศัยข้อมูลที่เชื่อถือได้ บางครั้งยาบางตัวก็มีจำหน่ายในร้านค้าปลีก ทั้งที่เป็นยาอันตราย ซึ่งต้องอาศัยเภสัชกรในการแนะนำข้อมูล หากสามารถจัดการได้การดื้อยาก็จะลดลงอย่างแน่นอน เพราะการปรับนิสัยและสร้างความรับผิดชอบของทุกคนในสังคมจะนำซึ่งการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และทำให้การลดอัตราการดื้อยา 50 เปอร์เซ็นต์ที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้มีโอกาสเป็นจริง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit