ศาสตราจารย์พิเศษนายแพทย์ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน โรคมะเร็งตับในประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นของมะเร็งทั้งหมด ที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในเพศชาย เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่มีกระแสเลือดมาเลี้ยงมากมาย จึงเป็นที่ที่มะเร็งชนิดต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดจากภายในตับนั้นกระจายมายังตัวตับได้ง่าย เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อนเป็นต้น แต่มะเร็งที่กระจายมาจากอวัยวะอื่นไม่เรียกว่ามะเร็งตับ มะเร็งตับคือมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ของตับเอง ซึ่งพบมากได้แก่ มะเร็งเซลล์ตับและมะเร็งเซลล์ท่อน้ำดี โดยมะเร็งตับในระยะแรกนั้นผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคมะเร็งโตมากขึ้น ผู้ป่วยอาจจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องอืด หรืออาจจะมีอาการปวดหรือเสียวชายโครงด้านขวา จุกเสียดแน่นท้อง อาการปวดอาจจะปวดร้าวไปยังไหล่ขวาหรือใต้สะบักด้านขวา และเมื่อมะเร็งทำลายหน้าที่ของตับมากขึ้นหรือเกิดการอุดตันของท่อน้ำดีก็จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม อาจจะมีอาการท้องบวม ขาบวม บางรายก็จะมีไข้ต่ำๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับชนิดนี้ เช่น ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง สามารถเฝ้าระวังโดยการตรวจอัลตราซาวน์ตับ หรือตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งตับที่เรียกว่า Alpha-fetoprotein (AFP) ทุก 6-12 เดือน ซึ่งมีหลักฐานว่าจะสามารถค้นหามะเร็งตับระยะแรกเริ่มได้ เมื่อพบว่ามีก้อนผิดปกติในตับแล้วนั้น การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับก็อาจจะตรวจด้วย CT scan หรือ MRI ตับ ในบางรายอาจจำเป็นต้องเจาะชิ้นเนื้อมาตรวจ เพื่อนำมาวางแผนการรักษาให้ได้ตรงจุดอย่างมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์ฉัตรชัย คูวัธนไพศาล แพทย์อายุกรรมมะเร็งโรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวถึงสถานการณ์โรคมะเร็งของประเทศไทยพบว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายสูงเป็นอันดับ 1 ของคนไทยต่อเนื่องมานานนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา และข้อมูลจากรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปีละกว่า 67,000 รายหรือเฉลี่ย 8 รายต่อชั่วโมง และยังคงพบอัตราการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกปี สำหรับโรคมะเร็งปอดพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบบ่อยในผู้สูงอายุ มะเร็งปอดคือเนื้องอกของปอดชนิดโตเร็ว ที่สามารถลุกลามไปสู่อวัยวะข้างเคียง และกระจายตัวไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ เนื้องอกนี้เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อในปอดมีการแบ่งตัวเร็วผิดปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นจากปัจจัยภายใน เช่น ความบกพร่องทางกรรมพันธุ์ หรือความเสื่อม
ของเซลล์ และปัจจัยภายนอกได้แก่ สารก่อมะเร็งที่อยู่ในบุหรี่และจากมลภาวะต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือการสูบบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่เป็นประจำถึงแม้จะไม่ได้สูบโดยตรงก็ตาม(second hand smoker)ผู้ป่วยบางรายที่ตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการ ส่วนใหญ่ตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อมาตรวจเช็คสุขภาพ อาการที่ควรสังเกตคือ อาการไอเรื้อรัง หายใจลำบาก ไอมีเสมหะปนเลือด น้ำหนักลดเบื่ออาหาร ปอดอุดตันอักเสบ เมื่อโรคมะเร็งลุกลามไปกระดูกอาจมีอาการปวดหลัง หรือปวดบริเวณตำแหน่งของกระดูกที่มะเร็งกระจายไป หากลุกลามไปที่ตับอาจมีอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน ถ้าลุกลามไปสมองอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน แขนขาอ่อนแรงเป็นต้น ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ทำให้ตรวจพบโรคในระยะแรก ทำให้สามารถให้การรักษาที่เหมาะสมได้ทันท่วงที สิ่งสำคัญของการห่างไกลโรคมะเร็งปอด คือ การงดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุราเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นตัวการสำคัญของการเกิดโรค ช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคและเสียชีวิต
นายแพทย์ชนวัธน์ เทศะวิบุล แพทย์รังสีรักษา โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวถึง ต่อมลูกหมาก (prostate gland) เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์และระบบปัสสาวะชาย ทำหน้าที่ในการผลิตน้ำหล่อลื่น (seminal fluid) ที่อยู่ในน้ำอสุจิ มะเร็งต่อมลูกหมากพบได้บ่อยในชายสูงวัย สาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมากเกิดได้จากเซลล์ต่อมลูกหมากที่มีความผิดปกติในการควบคุมการแบ่งตัว เมื่อเซลล์ผิดปกติเพิ่มจำนวนและรวมตัวกันมากขึ้น ก็สามารถที่จะลุกลามและกระจายตัวไปยังอวัยวะต่างๆ ได้ โดยระยะแรกอาจไม่แสดงอาการชัดเจน แต่มีอาการที่สังเกตได้คือ ปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะไม่ออก หรือมีเลือดปน เป็นต้น ในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น 161,360 รายในปี 2017 คิดเป็น 17 เปอร์ซ็นต์ของมะเร็งในผู้ชายทั้งหมด ในขณะที่มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากจำนวน 26,730 ในปี 2017 คิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมะเร็งในผู้ชายที่เสียชีวิตทั้งหมด ดังนั้นผู้ชายควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะทำให้ได้รับการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วและเพื่อผลการรักษาที่ดี
การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งนั้น รพ.วัฒโนสถ ได้ให้ความสำคัญทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ด้วยทีมบุคลากรทางการแพทย์ การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีชั้นสูงทางการแพทย์ที่ครบทุกมิติ ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากการักษานั้นคือการเพิ่มคุณภาพชีวิต ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ผู้ป่วยสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา อย่างไรก็ตาม การป้องกันให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง ด้วยการหมั่นตรวจเช็คร่างกายสม่ำเสมอ อย่าละเลยการตรวจ หากสังเกตุอาการด้วยตัวเองพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ช่วยตรวจเช็ค อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะถ้าตรวจเจอแต่เนิ่นๆ ได้รับรักษาอย่างทันท่วงที ก็มีโอกาสที่จะรักษาโรคมะเร็งให้หายได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-310-3000 หรือ Call Center โทร.1719
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit