เริ่มด้วยการสร้างความเข้าใจเรื่องของหลักการแสงสี ในกิจกรรมวงล้อสร้างแสงสี ชวนเด็กๆมาทำการทดสอบการทำงานของสมองกับสายตาของเรา ด้วยการนำอุปกรณ์ไม้จิ้มฟัน มาเสียบลงตรงกลางของกระดาษวงล้อแล้วหมุน จากนั้นจะสังเกตเห็นภาพตรงหน้าที่น่าทึ้งแตกต่างกันออกไป จากนั้นมาร่วมหาคำตอบว่าถ้ากระจกที่สะท้อนเงาของเรา มีรูปทรงอื่นๆ รูปร่างของเราจะออกมาผิดเพี้ยนจากเดิมหรือไม่? ในกิจกรรมกระจกทรงกระบอก ที่สามารถนำอุปกรณ์ใกล้ตัวง่ายๆ อย่างเช่น กระดาษห่อของขวัญสีเงิน มาประยุกต์ใช้เป็นกระจก ม้วนทำเป็นทรงกระบอก และสังเกตรูปทรงของตัวการ์ตูนในกระดาษผ่านกระจกทรงกระบอก เราจะเห็นผลลัพท์ที่น่ามหัศจรรย์ และหลังจากเรียนรู้หลักการวิทยาศาสตร์สุดสนุกจากการทดลองไปแล้ว จึงพาน้องๆ มาฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ผ่านสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบ Hands-on ในศูนย์วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ Phanomenta ซึ่งประกอบด้วยสถานีวิทยาศาสตร์กว่า 41 สถานี ที่จะช่วยปลุกปั้นทักษะนักวิทย์รุ่นเยาว์อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ สถานีสะพานโค้ง ช่วยฝึกทักษะวิศวกรตัวน้อยด้วยการสร้างสะพานจากท่อนไม้ จากนั้นหลุดเข้าสู่โลกจินตนาการสุดพิศวง จะเกิดอะไรขึ้นหากเราขยับตัวแล้ว เงาไม่ขยับตามไปด้วย ในสถานีเงาปริศนา หรือมาทดสอบประสาทสัมผัสรอบด้าน ฝึกวิเคราะห์เสียงด้วยหลักการฟิสิกส์ใกล้ตัว ในสถานีสเตอริโอ เป็นต้น
น้องปุยฝ้าย ด.ญ.อริน บรรพจุลจินดา อายุ 10 ปี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กล่าวว่า "หนูชอบที่โรงเรียนมักพาพวกเรามาทำกิจกรรมนอกห้องเรียนแบบนี้ เพราะสนุกมากกว่าอยู่ในห้องเรียน การมาที่ศูนย์การเรียนรู้นานมีบุ๊คส์เลิร์นนิงเซ็นเตอร์ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ทำให้หนูได้รับความรู้จากพี่ๆ ทีมงาน ที่มากมาย อย่างเช่น กิจกรรมกระจกทรงกระบอก หนูสามารถนำไปต่อยอดในการเรียนวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนได้ รวมถึงได้เรียนรู้หลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ ที่มีสถานีให้เล่นมากมาย หนูไม่ต้องคอยจดแต่เนื้อหาตามนิทรรศการที่มีบอกอยู่แล้ว ที่นี่ไม่มีเนื้อหาบอก แต่ทำให้เราได้ฝึกสังเกต ลงมือทำ ช่วยทำให้จดจำได้ดีกว่ามาก ที่ชอบที่สุดคือสถานีเงาปริศนา เพราะเป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่น่าตื่นเต้น ทำให้หนูอยากหาคำตอบ ในสิ่งมหัศจรรย์รอบตัวค่ะ"
ด้าน น้องกัส ด.ช.ธนดล ชัยเดช อายุ 10 ปี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กล่าวว่า "กิจกรรมกระจกทรงกระบอกทำให้ผมได้รับความรู้ทางวิทยาศาสตร์เรื่องหลักการมุม การหักเห และการสะท้อนของแสง ที่ทำให้สิ่งที่เราเห็นเปลี่ยนแปลงไปได้ ซึ่งจากการได้ลงมือทำการทดลองด้วยตัวเอง ทำให้ผมเกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนมากขึ้น ความรู้ที่ได้รับในวันนี้ จะช่วยผมทำคะแนนสอบได้ดีขึ้นไปอีกอย่างแน่นอนครับ"เพราะทักษะอัจฉริยะรุ่นเยาว์ สามารถสร้างได้หากได้รับการสนับสนุน ด้วยกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ ฉะนั้นการย่อยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ให้เข้าถึงเด็กๆ จึงต้องอาศัยกิจกรรมที่ทั้งสนุกและสอดแทรกองค์ความรู้ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียน และช่วยพัฒนาทักษะชีวิตได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
สำหรับหน่วยงานหรือโรงเรียนที่ต้องการจัดค่ายและกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ นอกห้องเรียน นานมีบุ๊คส์สามารถออกแบบค่ายและกิจกรรมในหลักสูตรที่เหมาะสมสำหรับเด็กทุกช่วงวัย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2662-3000 ต่อ 5226, 4425, 4323 หรือ Call Center 02-662-3000 กด 1 และ www.nanmeebooks.com หรือ www.facebook.com/nanmeebooksfan