ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ "โครงการพัฒนาศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน" ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 236 ศูนย์ และศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านดังกล่าว เป็น 1 ใน 5 ประสาน ที่จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนโครงการ 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง ให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อเป็นการชี้แจงและสร้างความเข้าใจให้ปราชญ์ชาวบ้านรับทราบเป้าหมายและแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดทั้งสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชาในการขับเคลื่อนเกษตรทฤษฎีใหม่ของปราชญ์ชาวบ้าน จึงได้จัดการสัมมนา เรื่อง "การขับเคลื่อนโครงการ 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง โดย ปราชญ์ชาวบ้าน" ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ณ สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ประกอบด้วย ปราชญ์ชาวบ้านและเกษตรกรต้นแบบจำนวน 150 ราย และเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 30 หน่วยงาน
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานโครงการ "5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง" ปี 2560มีเกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 70,002 ราย ซึ่งเกษตรกรได้นำความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ทำการเกษตรผสมผสาน ตามศักยภาพของตนเองในพื้นที่ เกิดการพึ่งพาตนเอง สามารถลดรายจ่ายจากการบริโภคผลผลิตที่ปลอดภัยของตนเองได้เฉลี่ยเดือนละ 533 บาท มีการลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้สารเคมี โดยใช้ปัจจัยการผลิตและใช้แรงงานของตนเองได้เฉลี่ยเดือนละ 556 บาท เกษตรกรมีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานในเมือง ลดลงร้อยละ 1.47 มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามหลัก เศรษฐกิจพอเพียง และจัดทำบัญชีครัวเรือน มีการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ส่งผลให้ครัวเรือนร้อยละ 18.38 สามารถลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้ อีกทั้งยังมีการวางแผนและดำเนินการผลิตในแปลงที่เข้าร่วมโครงการ สร้างรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือนละ 4,613 บาท
สำหรับการดำเนินงาน ในปี 2561 ได้กำหนดรับสมัครเกษตรกรที่มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้น จำนวน 70,000 ราย รวมเป็น140,000 ราย โดยเกษตรกรรายเดิม ปี 2560ได้รับการประเมินศักยภาพ และจัดกลุ่มเกษตรกรเพื่อพัฒนาต่อเนื่องเป็นกลุ่ม A ,B ,C แล้ว (ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560)แยกเป็นรายภาค ดังนี้ ภาคเหนือ 13,257 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20,608 ราย ภาคกลาง 9,745 ราย และภาคใต้ 6,651 ราย รวมทั้งสิ้น 50,261ราย คิดเป็นร้อยละ 71.8
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit