มิวเซียมสยาม เปิดตัวนิทรรศการถาวรชุดใหม่ ในชื่อ "ถอดรหัสไทย" นำเสนอภายใน 14 ห้องนิทรรศการ ที่จะพาไปเรียนรู้ทุกมุมมองความเป็นไทย และพัฒนาการความเป็นไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ เรื่องราวด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณี อาหารการกิน การแต่งกาย เป็นต้น โดย "ถอดรหัสไทย" ผ่านเทคโนโลยีและวิธีการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ เข้ากับยุคสมัย และตอบรับกับพฤติกรรมการบริโภคสื่อของประชาชนมากขึ้น ชวนให้ผู้เข้าชมคิดต่อยอด ตลอดจนเน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชมยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกสนุกและสามารถติดตามเนื้อหาได้ตั้งแต่ต้นจนจบ อาทิ 1.) ห้องไทยตั้งแต่เกิด จัดแสดงการพัฒนาการความเป็นไทย ที่นำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และสิ่งแสดงความเป็นไทยในสมัยต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีโมดูลไฮดรอลิก ครั้งแรกของประเทศไทย 2.) ห้องไทยอลังการ จำลองบรรยากาศท้องพระโรงและพระที่นั่งที่วิจิตรงดงาม ใกล้เคียงต้นฉบับจริงที่สุด ซึ่งสะท้อนความหมาย และความเชื่อ ที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ อันเป็นศูนย์กลางของประชาชน 3.) ห้องไทยชิม ห้องครัวมีชีวิต ผ่านลูกเล่นเทคโนโลยีคิวอาร์สแกน และโมชันกราฟิกสีสันสวยงาม ที่นำเสนอที่มาและเกร็ดความรู้เรื่องอาหารไทย เป็นต้น โดยมิวเซียมสยามตั้งเป้า ยอดผู้เข้าชมนิทรรศการดังกล่าว กว่า 5แสนคน ภายในปี 2561
นิทรรศการถาวรชุด "ถอดรหัสไทย" เปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เวลา 10.00 – 18.00 น. วันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดทำการทุกวันจันทร์) ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน (ข้างวัดโพธิ์) กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือเข้าไปที่ www.museumsiam.org สำหรับหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษา ที่มีความประสงค์จะนำนักเรียน นักศึกษา เข้าชมนิทรรศการเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 ต่อ 411
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า มิวเซียมสยาม ได้ทำการปิดให้เข้าชมนิทรรศการถาวรชุดเก่า ตั้งแต่ต้นปี 2559 เพื่อดำเนินจัดทำนิทรรศการถาวรชุด "ถอดรหัสไทย" ซึ่งใช้เวลาดำเนินการกว่า 18 เดือน โดยมิวเซียมสยามนำข้อมูลสถิติผู้เข้าชม ทั้งด้านประชากรศาสตร์ ความคิดเห็นที่มีต่อนิทรรศการ ตลอดจนวิจัยพฤติกรรมการบริโภคสื่อของประชาชน มาประกอบการพัฒนาเนื้อหาภายในนิทรรศการ และออกแบบรูปแบบการสื่อสารผ่านสื่อพิพิธภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากขึ้น "ถอดรหัสไทย" เป็นอีกนิทรรศการฝีมือคนไทย ที่จะลบภาพจำของการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ที่น่าเบื่อ จำเจ แต่จะมอบทั้งความรู้ควบคู่กับความสนุกให้กับทุกคนยิ่งกว่าเดิม และจะเป็นอีกหนึ่งมิวเซียมเดสติเนชั่น ที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไม่ควรพลาด
นายราเมศ กล่าวต่อว่า นิทรรศการถาวรชุด "ถอดรหัสไทย" เป็นนิทรรศการที่พาไปค้นหาความหมายที่แท้จริงของความเป็นไทย ผ่านการเล่าเรื่องราวความเป็นไทยในมิติต่าง อาทิ ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณี อาหารการกิน การแต่งกาย เป็นต้น และพัฒนาการของความเป็นไทยที่เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน โดยใช้วิธีการเล่าเรื่องราวพัฒนาการความเป็นไทย ผ่านสื่อพิพิธภัณฑ์ที่มีความปัจจุบันทันสมัย ใกล้ตัว และสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน ชวนให้นำไปคิดต่อยอด ย้อนผูกกับเรื่องราวในอดีต ตลอดจนรูปแบบของการนำเสนอที่เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถนำตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับนิทรรศการได้ ซึ่งจะทำให้เข้าใจเนื้อหาง่ายขึ้น เปิดประสบการณ์การเที่ยวพิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ ที่ได้ความรู้คู่ความสนุก ตลอดจนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการเล่าเรื่องให้ผู้ชมสามารถเข้าใจและติดตามเรื่องราวได้ง่ายมากขึ้น
นอกจากนี้ มิวเซียมสยามยังทำการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ พื้นที่รับรองผู้เข้าชม ลิฟต์อำนวยความสะดวก ห้องน้ำ และยังได้จัดทำระบบ ออดิโอไกด์ (Audio Guide) 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษ เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น เพื่อรองรับผู้มีความบกพร่องทางด้านสายตา และชาวต่างชาติ ภายในนิทรรศการยังถูกออกแบบให้เอื้อต่อผู้มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ตลอดจนลิฟต์อำนวยความสะดวกอีกด้วย นอกจากนิทรรศการแล้ว ภายในมิวเซียมสยามยังมีห้องจำหน่ายของที่ระลึก MUSE SHOP ร้านอาหาร MUSE KITCHEN ร้านกาแฟ MUSE CAFÉ สำหรับบริการผู้เข้าชม โดยทั้งหมดพร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นวันแรก ในวันที่ 2 ธันวาคม 2560 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าชมกว่า 30,000 คน ภายในสิ้นปี 2560 พร้อมตั้งเป้าผู้เข้าชมกว่า 5แสนคน ภายในปี 2561 นายราเมศ กล่าวสรุป
ด้านนายปรามินทร์ เครือทอง ที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) และหัวหลักทีมพัฒนานิทรรศการ กล่าวว่า เนื่องด้วยข้อจำกัดของการจัดนิทรรศการ คือเนื้อหาและเทคโนโลยีที่ใช้ล้าสมัยไปตามเวลา รวมถึงรูปแบบการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนไป โจทย์หลักในการทำนิทรรศการชุดใหม่ของมิวเซียมสยาม คือทำนิทรรศการอย่างไร ให้มีเนื้อหาเท่าทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้เข้าชม จึงเป็นที่มาของ "ถอดรหัสไทย" นิทรรศการถาวร ที่สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาไปตามประเด็นที่เป็นที่พูดถึงในสังคม สามารถตัดทอนเนื้อหาเดิมบางส่วน เพิ่มเติมประเด็นที่น่าสนใจ ทำให้สามารถเรียนรู้เรื่องราว และพบเจอวัตถุจัดแสดงใหม่ๆ ได้ทุกครั้งที่คุณมาชมนิทรรศการ ตลอดจนการนำเสนอที่สอดรับกับยุคสมัยที่ผู้คนอ่านหนังสือน้อยลง มิวเซียมสยามจึงเปลี่ยนการนำเสนอในรูปแบบตัวหนังสือ บอร์ดนิทรรศการ ไปเป็นรูปแบบอื่นๆ อาทิ การสื่อสารด้วยภาพ เกมส์ เทคโนโลยีเออาร์ (Augmented Reality) เลเซอร์คัต 3 มิติ และไฮไลท์การนำเสนอด้วยเทคโนโลยีโมดูลไฮดรอลิกที่แรกในประเทศ เป็นต้น
นายปรามินทร์ กล่าวต่อว่า นิทรรศการ "ถอดรหัสไทย" เป็นนิทรรศการที่แตกต่างจากนิทรรศการอื่น ทั้งด้านของการพัฒนาเนื้อหา โดยใช้วิธีการเล่าเรื่องราวพัฒนาการความเป็นไทย ผ่านสื่อพิพิธภัณฑ์ที่มีความปัจจุบันทันสมัย ใกล้ตัว และสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน ชวนให้นำไปคิดต่อยอด ย้อนผูกกับเรื่องราวในอดีต ตลอดจนรูปแบบของการนำเสนอที่เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถนำตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับนิทรรศการได้ ซึ่งจะทำให้เข้าใจเนื้อหาง่ายขึ้น เปิดประสบการณ์การเที่ยวพิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ ที่ได้ความรู้คู่ความสนุก ตลอดจนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการเล่าเรื่องให้ผู้ชมสามารถเข้าใจและติดตามเรื่องราวได้ง่ายมากขึ้น ทั้งนี้ มิวเซียมสยามจัดทำ ออดิโอไกด์ (Audio Guide) 5ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษ เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น เพื่อรองรับผู้มีความบกพร่องทางด้านสายตา และชาวต่างชาติ และภายในนิทรรศการออกแบบให้เอื้อต่อผู้มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ตลอดจนลิฟต์อำนวยความสะดวกอีกด้วย
นายปรามินทร์ กล่าวต่อว่า รายละเอียดของนิทรรศการ "ถอดรหัสไทย" ประกอบด้วย 14 ห้องนิทรรศการ ดังนี้
1. ห้องไทยรึเปล่า? : นำเสนอประเด็นคำถาม โดยหยิบยกกรณีตัวอย่างปรากฏการณ์ "ความเป็นไทย" ที่เป็นข้อถกเถียงในสังคม อาทิ เลดี้กาก้าสวมชฎา ชุดประจำชาติมิสยูนิเวิร์ส นักแสดงหน้าฝรั่งเล่นละครไทย เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าตั้งคำถามถึงความเป็นไทยรอบตัว ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ว่าแท้จริงแล้ว อะไรคือความเป็นไทย
2. ห้องไทยแปลไทย : ห้องจัดแสดงที่เต็มไปด้วยตู้โชว์ ลิ้นชัก ที่ภายในบรรจุวัตถุจัดแสดง นำเสนอประเด็นสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทยในแต่ละยุคสมัย ให้ผู้เข้าชมมาเรียนรู้และค้นหา "ความเป็นไทย" ในสิ่งของเหล่านั้นที่ส่งผลถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยในปัจจุบัน
3. ห้องไทยตั้งแต่เกิด : โชว์การพัฒนาการความเป็นไทย ที่นำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และสิ่งแสดงความเป็นไทยในสมัยต่างๆ 9 ยุคสมัย ผ่านเทคโนโลยีโมดูลไฮดรอลิก เสียงบรรยาย และกราฟิก ที่ถูกนำมาใช้ในนิทรรศการครั้งแรกของไทย
4. ไทยสถาบัน : นำเสนอแก่นแนวคิดเรื่อง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ 3 สถาบันหลัก ที่สะท้อนรูปแบบการแสดงออกของความเป็นไทย ผ่านเทคโนโลยีเออาร์ ออกแบบคล้ายเกมส์จิ๊กซอว์ ที่ผู้ชมสามารถประกอบคิวบิกบนโต๊ะกลางห้อง และภาพจำซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็น ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จะปรากฏขึ้นบนจอแสดงผล
5. ห้องไทยอลังการ : ภายในจำลองบรรยากาศของท้องพระโรงและพระที่นั่ง เพื่อแสดงถึงสุนทรียะ ความงดงามของสถาปัตยกรรมอันสูงค่า และงานประณีตศิลป์ รวมถึงสะท้อนความหมาย ความศรัทธา คติฮินดู และความเชื่อพุทธศาสนา ที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ อันเป็นศูนย์กลางของประชาชน
6. ห้องไทยแค่ไหน : นำเสนอความเป็นไทยผ่านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย จัดแสดงด้วยหุ่นเสื้อผ้าที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทยในรูปแบบต่างๆ วางกระจายอยู่บนฐานเกลียวก้นหอย โดยมีชุดโขนเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อแสดงถึงสถานะและลำดับความเข้มข้นของความเป็นไทย
7. ห้องไทย Only : ห้องที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ที่เราเห็นกันอย่างคุ้นตาในชีวิตประจำวัน ที่เห็นแล้วสามารถบอกได้ทันทีว่าเป็นของไทยแน่นอน อาทิ พวงเครื่องปรุง ถุงหิ้วกาแฟผูกหนังยาง โครเชต์หุ้มหูกระเป๋าแบรนด์เนม มาม่าสารพัดรส รวมถึงไฮไลท์เด็ด คุณเอิบทรัพย์ หุ่นนางกวักยักษ์สูงกว่า 4 เมตร เป็นต้น ซึ่งสะท้อนบุคลิกภาพความเป็นคนไทยช่างประดิษฐ์ ปรับปรุง เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต ให้สะดวกสบาย และเหมาะสมกับสถานการณ์
8. ห้องไทย Inter : นำเสนอประเด็นมุมมองความเป็นไทยของสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างกันในสายตาชาวไทยกับชาวต่างประเทศ อาทิ เรือสุพรรณหงส์คู่กับเรือหางยาว ผลไม้แกะสลักคู่กับผลไม้รถเข็น สำรับอาหารชาววังคู่กับอาหารไทยริมทางเท้า สะท้อนมุมมองความเป็นไทย ที่ต้องการให้คนอื่นเห็น กับ สิ่งที่คนอื่นคิดว่าเราเป็น
9. ห้องไทยวิทยา : ภายในจำลองบรรยากาศห้องเรียน 4 ยุคสมัย ได้แก่ ยุคเริ่มต้นประชาธิปไตย ความเป็นไทยยุค 2500 ความเป็นไทยยุคโลกาภิวัตน์ และความเป็นไทยยุคพอเพียง ซึ่งสะท้อนถึงการปลูกฝังความเป็นชาติไทยผ่านบทเรียน โดยเนื้อหาแต่ละยุคจะมีทั้งเรื่องความแตกต่างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่ถูกสอดแทรกไว้ผ่านการศึกษา แบบเรียน และบทเพลงแต่ละยุคสมัย
10. ห้องไทยชิม : ห้องครัวมีชีวิต ที่พาคุณไปเรียนรู้ที่มาของอาหารไทยขึ้นชื่อต่างๆ อย่าง ต้มยำกุ้ง ส้มตำ ผัดไทย เป็นต้น โดยใช้เทคโนโลยีคิวอาร์สแกน พร้อมโมชันกราฟิกสีสันสวยงาม รวมถึงแผ่นพับรูปจาน ที่สอดแทรกเกร็ดความรู้อาหารเหล่านั้น บอร์ดกราฟิกชวนตั้งคำถามกับเมนูอาหารไทยที่มีชื่อต่างประเทศ อาทิ ขนมจีน ข้าวผัดอเมริกัน ขนมโตเกียว เป็นต้น
11. ห้องไทยดีโคตร : นำเสนอพัฒนาการของความเป็นไทย ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอื่น อาทิ พระปรางค์วัดอรุณ ที่สุดของสถาปัตยกรรม ตัวอักษรไทย รถตุ๊กตุ๊ก เป็นต้น ผ่านรูปแบบการนำเสนอด้วยภาพ ซึ่งผู้ชมสามารถเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น อาทิ เลเซอร์คัท 3 มิติ โซโทรป ฟลิปบุ๊ก เป็นต้น
12. ห้องเชื่อ : ห้องที่รวบรวมวัตถุด้านความเชื่อของเมืองไทย กว่า 108 สิ่ง ครอบคลุมทั้งความเชื่อเรื่อง ผี พุทธศาสนา พราหมณ์และความเชื่อแบบไทยๆ ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิต พร้อมเวิร์กชอปความเชื่อให้ทดลองกันได้จริง อาทิ การทำนายโชคชะตา การเสี่ยงทายรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
13. ไทยประเพณี : ห้องจัดแสดงในรูปแบบโกดังเก็บของ นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ ประเพณี เทศกาล และมารยาท อันเป็นสิ่งสะท้อนความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน ใส่ไว้ในกล่อง ภายในมีเอกสารอธิบายที่มาที่ไปของเรื่องต่างๆ ภาพประกอบของจริงที่จับต้องได้ เล่นได้ และมีเกมที่จะทำให้เข้าใจเรื่องราวได้สนุกยิ่งขึ้น
14. ไทยแชะ : สตูดิโอถ่ายภาพ นำเสนอประเด็นความสำคัญของ ภาพถ่าย เป็นหลักฐานที่บ่งบอกความเป็นไทยและทำให้เรารู้จักผู้คน และบ้านในยุคสมัยต่างๆ ได้ชัดเจนที่สุด โดยผู้ชมสามารถเลือกชุด เครื่องประดับ ฉาก และเครื่องประกอบฉาก สำหรับถ่ายภาพบันทึกความทรงจำไว้ได้ตามอัธยาศัย
นิทรรศการถาวรชุด "ถอดรหัสไทย" เปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เวลา 10.00 – 18.00 น. วันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดทำการทุกวันจันทร์) ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน (ข้างวัดโพธิ์) กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือเข้าไปที่ www.museumsiam.org สำหรับหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษา ที่มีความประสงค์จะนำนักเรียน นักศึกษา เข้าชมนิทรรศการเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 ต่อ 411
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit