กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยความคืบหน้ากองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท จากนโยบายของรัฐบาล โดยล่าสุดนับตั้งแต่เปิดโครงการเดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม 2560 มีการอนุมัติเงินกู้ผ่านทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME Development Bank ไปแล้วกว่า 1,118 ราย วงเงินกว่า 4,423 ล้านบาท ขณะเดียวกันกองทุนฯ ประกาศขยายเวลาการยื่นขอสินเชื่อต่อถึงธันวาคมนี้ นอกจากนี้ ยังเตรียมมาตรการส่งเสริมและพัฒนาSMEs เต็มรูปแบบ โดยได้สั่งการให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง เสนอแผนการช่วยเหลือ SMEs ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น (Local Economy)และยุทธศาสตร์จังหวัดแล้ว ทั้งเตรียม มอบคูปองเป็นของขวัญปีใหม่ให้ SMEs สำหรับใช้บริการด้านต่าง ๆ อาทิ ปรึกษาแนะนำการใช้บริการ ศูนย์ทดสอบ การใช้บริการเครื่องจักรกลาง และการพัฒนาบุคลากร เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะมี SMEs ใช้บริการกว่า 5,000 ราย และจะเริ่มให้บริการได้ในต้นปี 2561
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายและมาตรการการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาทนั้น โดยความคืบหน้าล่าสุดตั้งแต่เปิดโครงการเดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม 2560 มีการอนุมัติเงินกู้ผ่านทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME Development Bank ไปแล้วกว่า 1,118 ราย วงเงินกว่า 4,423 ล้านบาท จากจำนวน SMEsที่ยื่นคำขอสินเชื่อมากกว่า 4,000 ราย วงเงินกว่า 21,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาหลักเกณฑ์คุณสมบัติของโครงการมี SMEs จำนวนหนึ่งที่คุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์การพิจารณา ทำให้ขณะนี้ทางกองทุนฯ ยังมีวงเงินเหลือให้กับ SMEs ที่ประสงค์ จะยื่นคำขอสินเชื่อ คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงมีมติให้ขยายการเปิดรับการยื่นขอสินเชื่อออกไปจนถึงเดือนธันวาคม 2560
สำหรับในปี 2561 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน SMEs ได้เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs อย่างต่อเนื่องตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น (Local Economy) และยุทธศาสตร์จังหวัด ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในแต่ละจังหวัดแล้ว รวมถึงการออกคูปอง สำหรับใช้บริการด้านต่าง ๆ อาทิ บริการปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ การใช้บริการ ศูนย์วิเคราะห์ วิจัย และทดสอบผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาบุคลากร เป็นต้น ทั้งนี้ 2 กิจกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายให้ SMEs ใช้บริการจำนวน 5,000 ราย ในวงเงินทั้งสิ้น 320 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กองทุน 20,000 ล้าน) นอกจากนี้ กสอ. ยังเตรียมแผนการใช้โมเดลศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (ITC) จากส่วนกลางที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เพื่อเป็นต้นแบบในการยกระดับงานบริการไปยังศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง นำไปใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุน SMEs ให้เข้มแข็งในระดับภูมิภาคต่อไป ขณะเดียวกันก็ได้มีการเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านมาให้คำปรึกษาแนะนำแก่ SMEs เสมือนเป็นพี่เลี้ยง กว่า 20 บริษัท อาทิ SCG ปตท. เด็นโซ่ เดลต้า โตโยต้า ฮอนดา นิสสัน เป็นต้น
นอกจากนี้ กสอ. และ สสว. ยังมีการเตรียมสร้างกลไกเชื่อมโยงเพื่อส่งเสริม SMEs เข้าสู่ Digital Value Chai โดยพัฒนาแพลตฟอร์มรูปแบบเว็บไซต์ T-Good Tech ขึ้นมา เพื่อนำ SMEs ในแต่ละโครงการของรัฐจำนวน 5,000 ราย เข้าไปทำการเชื่อมโยงเป็นซัพพลายเชนกับผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยล่าสุดกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น หรือ METI ได้มอบหมายให้องค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรม ภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ SMRJ ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประจำที่ไทยเพื่อช่วยจัดทำแพลตฟอร์มการเชื่อมโยง SMEs ของไทยกับไทย และในอนาคตจะเชื่อมไทยไปยังผู้ประกอบการของญี่ปุ่น รวมถึงเชื่อมไทยไปยัง กลุ่ม AEC อีกด้วย
ด้านนายบุ่นเอี้ยน ศรีแสนสุชาติ กรรมการผู้จัดการ บจก. ศรีทรัพย์ ขนส่ง หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้ยื่นขอกู้จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อหัวรถลากคอนเทนเนอร์รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ประหยัดพลังงานเป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อม และมีระบบ GPS "ผมได้ทราบข่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรม มีกองทุนดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ก็เลยไป ขอกู้ผ่านธนาคาร SME Development Bank จำนวนเงิน 10 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นข่าวดีที่ทำให้เราได้เปลี่ยนรถรุ่นใหม่ที่ประหยัดเชื้อเพลิง ช่วยลดต้นทุน และมีระบบ GPS สามารถตรวจสอบพฤติกรรมคนขับรถว่ามีความประมาทสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ ถ้ามีเราก็สั่งหยุดรถคนนั้นได้ และนำตัวคนขับรถคนนั้นไปเข้าโครงการอบรม เพื่อลดอุบัติเหตุ ทำให้การบริการของเรามีคุณภาพมากขึ้นในยุคไทยแลนด์ 4.0 และที่สำคัญการเกิดขึ้นของกองทุนฯ มีประโยชน์เป็นอย่างมาก ทั้งช่วยลดต้นทุนในการพัฒนาและขยายกิจการ เมื่อเราสามารถขยายกิจการหรือเพิ่มศักยภาพธุรกิจของเราได้ ก็จะสามารถให้บริการได้ดี มีคุณภาพมากขึ้น สามารถรับ-ส่งของได้ตรงตามเวลา ซึ่งถือเป็นหัวใจสำหรับธุรกิจการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์"
ขณะที่ นางกิตติมา ทองเกตุ รองกรรมการผู้จัดการ บจก. ด.เด็ก กินผัก ที่นอกจากจะได้รับเงินส่งเสริมในการทำธุรกิจแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอีกหลายด้าน อย่างโครงการ SMEs Spring Up การได้รับคำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจนทำให้บริษัทได้รับรองมาตรฐานทั้ง GMP HACCP หรืออย่างล่าสุด ได้เข้าโครงการ Future Food เพื่อขยายตลาดโดยการทำ Digital Marketing "โครงการเหล่านี้ ล้วนมีประโยชน์มากกับผู้ประกอบการ SMEs นับเป็นจุดเริ่มและเป็นบันไดให้กับเราในการยื่นขอสินเชื่อกับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่บริษัทยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องคือ การใช้นวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจ เพราะถ้าสินค้าไม่มีนวัตกรรม บริษัทก็แข่งขันไม่ได้ อย่างตอนนี้ ไม่ว่าจะคุยกับช่องทางการจัดจำหน่ายที่ไหน ถ้าสินค้าเรามีลักษณะเหมือนกับคนอื่น เขาก็ไม่จะอยากคุยกับเรา แต่ถ้าสินค้าเราแปลก แตกต่าง ก็จะมีแต่คนอยากคุยกับเรา อยากเป็นตัวแทนเรา อยากจะร่วมทำธุรกิจกับเรา เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงคือ 1. เรื่องของนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมสินค้า นวัตกรรมการผลิต หรือแม้แต่นวัตกรรมในการสร้างแบรนด์ 2.การทำการตลาด เมื่อเราคิดจะก้าวกระโดดมาทำให้สินค้าเราเป็นที่จดจำของผู้บริโภค การสร้างแบรนด์จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการหลายคนยังไม่เข้าใจจุดนี้ โดยเฉพาะในช่วงโลกดิจิทัลตอนนี้ เราสามารถใช้ระบบดิจิทัลในการสร้างแบรนด์ได้"
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียดสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือSME ทั่วประเทศ หรือที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวี โทรศัพท์ 0 2202 4508-9