ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน ภายใต้ตราสินค้า " KC " เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 130 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท โดยบริษัทมีวัตถุประสงค์จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจในการปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้เหมาะสมตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อขยายฐานลูกค้าและตลาดไปยังต่างประเทศ
สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และข้าวโพดหวานที่มาจากประเทศไทยมีคุณภาพและได้รับการยอมรับจากลูกค้าต่างประเทศ โดยประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มียอดส่งออกข้าวโพดหวานอันดับ 1 ของโลก ซึ่งปี 2559 มีมูลค่าส่งออกข้าวโพดหวานมากกว่า 7,600 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17% ของมูลค่าการส่งออกรวมทั่วโลก ที่มีมูลค่า 44,771 ล้านบาท โดยสินค้าของซันสวีท ได้แก่ ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง (CANNED CORN) ข้าวโพดหวานแช่แข็ง (FROZEN) ข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศ (POUCH CORN)
สำหรับผลประกอบการปี 2560 บริษัทตั้งเป้าการเติบโตประมาณ 10% จากปีก่อนปี 2559 บริษัทมีรายได้ 1,725.95 ล้านบาท กำไรสุทธิ 111.55 ล้านบาท และผลดำเนินการช่วง 9 เดือน ของปี 2560 บริษัทมีรายได้ 1,273.67 ล้านบาท กำไรสุทธิ 111.49 ล้านบาท รวมไปถึงกำไรการผลิตของปี 2560 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากปีก่อนที่มีกำลังการผลิตประมาณ 100,000 ตันต่อปี
นายเสกสรรค์ ธโนปจัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด "APM"32ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ ซันสวีท ได้ทำการยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ดูแลตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และยื่นคำขอให้รับหุ้นสามัญของบริษัทเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ
สำหรับ บ.ซันสวีท ถือว่าเป็นผู้นำด้านส่งออกข้าวโพดหวานของประเทศ ซึ่งดำเนินธุรกิจมามากกว่า 20 ปี โดยมีฐานลูกค้ามากกว่า 200 ราย ที่กระจายอยู่มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน เป็นต้น ขณะที่การทำสัญญากับเกษตรกรในลักษณะ (Contract Farming) ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบของซันสวีท เพราะสามารถควบคุมปริมาณวัตถุดิบที่ต้องการนำมาผลิตสินค้าได้ตรงตามจำนวนและความต้องการของลูกค้า ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญามากกว่า 20,000 รายทั่วประเทศ และมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 50,000 – 100,000 ไร่ นอกจากนี้บริษัทยังได้พัฒนาและคิดค้นระบบ SMART FARM เพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการพัฒนากระบวนการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งสามารถเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิต และสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้อีกด้วย
นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีส่วนสำคัญในการขยายธุรกิจของซันสวีททั้งในและต่างประเทศให้เป็นไปตามแผนที่บริษัทตั้งเป้าไว้ ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัท รวมไปถึงตราสินค้าของบริษัทให้สามารถรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และยังสามารถลดต้นทุนทางการเงินเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงินให้กับบริษัทอีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit