GIT ค้นฟ้าหาสุดยอดนักออกแบบเครื่องประดับ และสุดยอดช่างเจียระไนพลอย ในGIT World’s Jewelry Design Awards 2017 และ GIT’s World Gems Faceting Master 2017

13 Dec 2017
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดงานประกาศผลงานการตัดสินรอบชิงชนะเลิศ โครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 11 ชิงโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีและ เงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 500,000 บาท และการแข่งขันเจียระไนพลอย ครั้งที่ 1 ชิงเหรียญเกียรติยศ และเงินรางวัลรวมมูลค่า 157,000 บาท ณ ห้องประชุมบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์ หวัง หวังดันนักออกแบบ และ ช่างเจียระไนพลอยไทยสู่เวทีโลกอย่างเต็มภาคภูมิ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา
GIT ค้นฟ้าหาสุดยอดนักออกแบบเครื่องประดับ และสุดยอดช่างเจียระไนพลอย ในGIT World’s Jewelry Design Awards 2017 และ GIT’s World Gems Faceting Master 2017

โครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ (GIT's World Jewelry Design Award 2017) จัดขึ้นโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ นักออกแบบทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่น ได้นำเสนอผลงานความคิดสร้างสรรค์ออกสู่สายตาประชาชน ในครั้งนี้เป็นการประกวดครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด "Illusion through the Gemstones; Where the Mystery of Your Design Begins" และผู้ชนะเลิศได้รับเงินรางวัลรวมมูลค่า 500,000 บาท พร้อมโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โดยในปีนี้ความสนใจจากบรรดานักออกแบบทั้งไทยและต่างชาติส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก โดยแบ่งเป็นสองประเภทคือ ประเภทเครื่องประดับสำหรับสุภาพบุรุษ และ ประเภทเครื่องประดับสำหรับสุภาพสตรี

นอกจากนี้ GIT ยังได้จัดการประกวดเจียระไนพลอยระดับโลก GIT's World Challenge Gems Faceting Master 2017 ชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า 157,000 บาท ถือเป็นปีแรกของ GIT ที่เปิดโอกาสให้กับช่างเจียระไนมือสมัครเล่น และมืออาชีพ ทั้งของไทยและระดับนานาชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างช่างเจียระไนรุ่นใหม่ ที่มีทักษะ และฝีมือขั้นสูงให้สามารถเติบโตได้ในตลาดโลก

โดยในวันพุธที่ 6 ธันวาคม 2560 สถาบันฯ ได้รับเกียรติจาก นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีประกาศผลการตัดสินรอบชิงชนะเลิศ โครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 11 การแข่งขันเจียระไนพลอย ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุมบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์

สำหรับการประกวดการออกแบบ GIT's World Jewelry Design Award 2017 ในปีนี้ มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 267 ผลงาน แบ่งเป็น เครื่องประดับสำหรับสุภาพสตรี จำนวน 231 ผลงาน เครื่องประดับสำหรับสุภาพบุรุษ 36 ผลงาน คัดเลือกผลงานที่มีคะแนนสูงสุดประเภทละ 3 ผลงาน รวมเป็น 6 ผลงาน เพื่อทำเป็นเครื่องประดับจริง และสำหรับ GIT's World Gems Faceting Master 2017 มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 34 ผลงาน แบ่งเป็น 2 ประเภท Main Challenge จำนวน 17 ผลงาน และ Freestyle Challenge จำนวน 17 ผลงาน ซึ่งสถาบันได้มีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผลงานการออกแบบ พร้อมยังได้มีการจัดแสดงผลงานการเจียระไนของผู้ผ่านเข้ารอบทั้งหมด ณ ลานอีเดน ชั้น1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลการออกแบบในปีนี้ ได้แก่

ประเภทเครื่องประดับสำหรับสุภาพบุรุษ

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานชุด Multiverse ออกแบบโดย นางสาวศิลานันท์ คงบัว

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ผลงานชุด The Second Dimension ออกแบบโดย นายกิติศักดิ์ หมายเจริญ

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ผลงานชุด Radiant Cut Diamond ออกแบบโดย นางสาวพรวิภา เธียรพจีกุล

ประเภทเครื่องประดับสำหรับสุภาพสตรี

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานชุด My Universe ออกแบบโดย นายธีรวุฒิ อาปะโม

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ผลงานชุด New Shiny Discover ออกแบบโดย นางสาวกัญญา แสงผะกาย

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ผลงานชุด ปิรามิด ออกแบบโดย นายกิติศักดิ์ หมายเจริญ

สำหรับผลงานการประกวดการออกเจียระไนในปีนี้ ได้แก่

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ Mr. Bae Tae Kyu จากสาธารณรัฐเกาหลี

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ นายสรรเพชญ พนัสเจริญ

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ Mr. Milan Rekesan จากสมาพันธรัฐสวิส

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT กล่าวว่าทิ้งท้ายว่า งานประกวดออกแบบเครื่องประดับและการแข่งขันเจียระไนเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบเครื่องประดับทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน ให้ผลงานเหล่านี้ออกสู่สายตาประชาชน ไม่เพียงแค่ชาวไทยเท่านั้น ต่างชาติเองก็ยังยอมรับว่า คนไทยมีดีไซน์การออกแบบไม่แพ้ชาติใดในโลก ในการจัดงานทุกครั้งเรามีความสำเร็จของบรรดา นักออกแบบเป็นเครื่องการันตีว่าเรามาถูกทาง เพราะในปัจจุบัน อุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับไทยยังคงเป็นสินค้าที่ส่งออกสำคัญของประเทศ ในปีนี้เราเลยต่อยอดการจัดประกวด ด้วยการจัดให้มีการแข่งขันเจียระไนพลอย เพื่อให้ช่างได้มีการฝึกฝีมือให้ทัดเทียมกับช่างเจียระไนพลอยระดับโลก และในปีต่อๆ ไปนี้ ก็เป็นไปได้อย่างแน่นอนว่า เราจะนำเสนอสิ่งใหม่ๆ มาสู่วงการอัญมณีเหมือนที่เราทำในเช่นทุกวันนี้"