สช.นำสื่อลงพื้นที่ “พังงาแห่งความสุข” ความสำเร็จของการถักทอจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคม

12 Dec 2017
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช.นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.พังงา ชมผลงาน "พังงาแห่งความสุข" ด้วยการดำเนินงานของจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคมสุขภาวะ ส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ "โรงเรียนเกษียณวัย" กุศโลบายดูแลผู้สูงอายุ ส่งเสริมอาหารปลอดภัย ลดเสี่ยงโรค พร้อมความเข้มแข็งในการร่วมดูแลป้องกันพิบัติภัยในพื้นที่ จากบทเรียนสึนามิ ขับเคลื่อนโดยจิตอาสา ยืนได้ด้วยตนเอง
สช.นำสื่อลงพื้นที่ “พังงาแห่งความสุข” ความสำเร็จของการถักทอจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคม

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการจิตอาสาประชารัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากลไกสนับสนุนเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ เสริมสร้างสังคมสุขภาวะและความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานตามเป้าหมายหลักของโครงการใน 6 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.เครือข่ายจิตอาสาประชารัฐระดับพื้นที่ มีแกนนำจิตอาสาประชารัฐใน 76 จังหวัด 878 อำเภอ รวม 81,392 คน 2.เครือข่ายศูนย์ประสานงานจิตอาสาประชารัฐระดับจังหวัด มีศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯ 76 แห่ง มีคณะกรรมการสนับสนุนจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคมจังหวัด จำนวน 76 คณะ รวม 2,935 คน 3.เครือข่ายกองทุนจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคมระดับจังหวัด มีการจัดตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อสังคมของจังหวัด 69 แห่ง มีจำนวนเงินที่ได้รับบริจาคเพื่อจัดตั้งกองทุนประชารัฐจังหวัด รวม 4,859,872 ล้านบาท 4.เครือข่ายจิตอาสาอื่นๆที่เข้าร่วมถักทอ ประกอบด้วย เครือข่ายอาสาสมัครราชประชาสมาสัย 82 ชมรม 1,212 คน ,เครือข่ายจิตอาสาผู้ป่วย โดยมูลนิธิมิตรภาพบำบัด 1,259 คน ,เครือข่ายนักสื่อสารชุมชน โดย สมาคมนักวิทยุโทรทัศน์จังหวัดเพชรบูรณ์ มีสมาชิก 162 คน มีสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชน 146 สถานี และทีวีออนไลน์ 10 สถานี ,เครือข่ายคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ จำนวน 200 อำเภอ ,เครือข่ายอาสาสมัครผู้ปกครอง โดยมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน 26 โรงเรียน จำนวน 319 คน และเครือข่ายชมรมอาสาสมัครในมหาวิทยาลัย โดย มูลนิธิกองทุนไท 30 มหาวิทยาลัย จำนวน 215 ชมรม 5.ผลสำรวจและเข้าถึงผู้ยากลำบากที่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งมี 7 ประเภทคือ คนไร้บ้าน คนไร้สัญชาติ ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง ผู้ติดเชื้อผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียง อดีตผู้ต้องขัง และคนพิการ จำนวนทั้งสิ้น 128,186 คน 6.พื้นที่จุดเสี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติ ได้สำรวจพบพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติและจุดเสี่ยงซ้ำซาก 369 อำเภอ ซึ่งจะมีการจัดทำแผนรับมือครบทุกแห่ง

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ จ.พังงา คือการ เปิดโอกาสให้ได้เห็นการทำงานที่ประสบความสำเร็จของจิตอาสาประชารัฐอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัด คือ "กลุ่มเครือข่ายจิตอาสาในพื้นที่ สามารถนำความช่วยเหลือมายังพื้นที่ของตนเองได้อย่างเข้าถึง เข้าใจ และทันท่วงที"

ด้านนายไมตรี จงไกรจักร์ แกนนำจิตอาสาประชารัฐผู้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนงาน"พังงาแห่งความสุข" กล่าวว่า การดำเนินงานที่โดดเด่นของจังหวัดคือ การมีแผนเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ โดยภายหลังที่ สช. สนับสนุนโครงการจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคม จึงเข้ามาเป็นเครื่องมือให้มีการขยายพื้นที่ และดำเนินการในด้านนี้อย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งจังหวัด และการรวบรวมอาสาสมัครภัยพิบัติ เป็นเครือข่ายที่มีระบบประสานงานอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทั่วพื้นที่ รวมทั้งมีระบบการประสานงาน และการเตือนภัยอย่างมีระบบ อีกทั้ง ยังมีกิจกรรมเพื่อดูแลผู้เปราะบางในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ โดยได้จัดกิจกรรม โรงเรียนเกษียณวัยตำบลโคกเจริญ ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความเข้าใจในเรื่องการดำเนินชีวิตเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ "สุขภาพดี มีภูมิปัญญา พร้อมจิตรอาสา พัฒนาสังคม"เริ่มต้นจากกิจกรรมเล็กๆ ส่งเสริมการปลูกเกษตรริมรั้วปลอดสาร ต่อมาเมื่อมีคนมาศึกษาดูงานในพื้นที่ กลุ่มนักเรียนเกษียนวัย ก็ทำปิ่นโตสุขภาพ เพื่อต้อนรับคณะศึกษาดูงาน เป็นกิจกรรมที่ได้รับคำชมจากหลายคณะ โดยหลักสูตรของโรงเรียนจะเน้นใน 3 ด้านคือ ส่งเสริมประสบการณ์ชีวิต ส่งเสริมประสบการณ์อาชีพ และส่งเสริมประสบการณ์วิชาการ

ทั้งนี้ ผู้เรียนเกษียณวัยจะได้ร่วมทำกิจกรรมอันเป็นประโยชน์หลากหลายด้าน อาทิ การให้ความรู้ที่เหมาะสมกับวัย เพื่อลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัว โดยการสอนการใช้ภาษา,การเล่นLINE, FaceBook,ความรู้เกี่ยวกับโรคในผู้สูงอายุ,การใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมจิตอาสา เช่น วันจิตอาสา,พระเยี่ยมโยม,เพื่อนช่วยเพื่อน,วิชาสุขภาพจิต,วิชาธรรมะกับการพัฒนาชีวิต,แพทย์แผนไทยสมุนไพรใกล้บ้านสร้างรายได้,วิชาเศรษฐกิจพอเพียงลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ นอกจากจะสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการทำงานของจิตอาสาประชารัฐของ สช.แล้ว ยังเป็นการตอบโจทย์การแก้ปัญหาของจังหวัด และชุมชนอย่างแท้จริง