TCELS จับมือร่วมกับ สวทน. และ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ จัดงานสัมมนา “จาก Big Data สู่ AI ไปถึง Robot สังคมไทยรู้เท่าทันแค่ไหน”

08 Dec 2017
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (องค์การมหาชน) หรือ TCELS จับมือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จัดงานสัมมนาหัวข้อ "จาก Big data สู่ AI ไปถึง ROBOT สังคมไทยรู้เท่าทันแค่ไหน" ณ ห้องประชุมเบญจศิริ แกรนด์ บอลรูม ชั้น 5 โรงแรมโนโวเทล สุขุมวิท 20 กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลุ่มปัญญาประดิษฐ์หุ่นยนต์ และ Big Data ร่วมฟังคำบรรยายจากนายกสมาคมกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี AI พร้อมหัวข้อเสวนาการสังคมไทย และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยี Big data, AI และ Robot
TCELS จับมือร่วมกับ สวทน. และ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ จัดงานสัมมนา “จาก Big Data สู่ AI ไปถึง Robot สังคมไทยรู้เท่าทันแค่ไหน”

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า "ปัจจุบันการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ (Artificial Intelligence (AI)/ Robotics) และการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในประเทศไทยมีความแพร่หลายและมีความก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น AI เมื่อเทียบกับมนุษย์ คือ ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลมหาศาล และความรวดเร็วและแม่นยำในการประมวลผลเชิงตรรกะ AI จึงเป็นผู้ช่วยมากกว่าเป็นผู้ตัดสินใจ แม้กระนั้น ความสามารถในการเข้าถึง เรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว จากการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของ AI และต่อเนื่อง สังคมไทยจึงต้องปรับตัวให้ทันเพื่อรองรับการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องทางสังคม เพื่อให้เรารู้เท่าทันและใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้วนั้น การเตรียมพร้อมทั้งทางด้านความรู้ สังคม จริยธรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง"

นายแพทย์ชัยยศ คุณานุสนธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ กล่าวว่า "โรงพยาบาลมีโครงการร่วมกับต่างประเทศเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยการตัดสินใจของแพทย์ทางสมอง ด้วยการใช้ปลายเครื่องตรวจจับส่องแสงไปที่เนื้อเยื่อเป้าหมาย ซึ่งจะสะท้อนแสงกลับมาเพื่อให้แพทย์รู้ว่าเนื้อเยื่อสมองบริเวณนั้นปกติหรือเป็นเนื้อร้าย รวมถึงการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของผู้ป่วยซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา"

นายธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย กล่าวว่า "สังคมไทยตื่นตัวเตรียมพร้อมสำหรับการมาถึงของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากขึ้น สังเกตได้จากการที่ภาคการศึกษารวมถึงผู้ประกอบการได้พัฒนาหุ่นยนต์ในรูปแบบต่างๆ ออกมาทดลองใช้หลากหลายฟังก์ชั่น เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้ทั้งในอุตสาหกรรม การแพทย์และการบริการ อาทิ หุ่นยนต์ที่ใช้โต้ตอบมนุษย์ แขนกลในโรงงาน หุ่นยนต์ช่วยกายภาพบำบัด จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องร่วมกันสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาไปสู่เทคโนโลยี AI และทำให้หุ่นยนต์อัจฉริยะมากขึ้น โดยเฉพาะการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้สูงอายุ หรือวิเคราะห์อาการผู้ป่วยเบื้องต้น ก่อนที่แพทย์จะเข้ามาทำการรักษา ขณะที่ในต่างประเทศมีความพยายามพัฒนาขีดความสามารถให้ทัดเทียมกับมนุษย์หรือฉลาดกว่าในอนาคต"

"โซเฟีย"ต้นแบบพลเมือง AI

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้ แวดวงเทคโนโลยีต่างจับตามอง Sophia (โซเฟีย) หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับการออกแบบให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์เพศหญิง สามารถตอบโต้กับมนุษย์และแสดงสีหน้าแบบต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น การขยับปาก ขมวดคิ้ว ขยับดวงตา และ ฯลฯ ผลงานการพัฒนาโดยบริษัท Hanson Robotics

เดวิด แฮนสัน หัวหน้าทีมวิศวกรและดีไซน์เนอร์ กล่าวว่า "เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาหุ่นยนต์โซเฟีย คือ การทำให้ AI มีความรู้สึกนึกคิด มีความคิดสร้างสรรค์และความสามารถใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด เพื่องานด้านการบริการสุขภาพ การศึกษาและการบริการลูกค้า ผิวหนังที่สมจริงของโซเฟียทำมาจากซิลิคอนที่จดสิทธิบัตรแล้ว ภายใต้ใบหน้าได้ติดตั้งเซนเซอร์ที่ช่วยให้แสดงออกทางสีหน้าได้ถึง 62 แบบ ส่วนดวงตาฝังกล้องประกอบกับอัลกอริทึมที่ทางบริษัทออกแบบทำให้สามารถมองเห็นและมองตามคู่สนทนา ในส่วนของการพูดนั้นใช้เทคโนโลยีจากกูเกิลและเทคโนโลยีอื่นๆ ช่วยให้จดจำบทสนทนาและโต้ตอบได้อย่างชาญฉลาดตลอดเวลา โซเฟียสามารถจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ และทางบริษัทผู้ผลิตต้องการที่จะผลิตหุ่นยนต์แบบโซเฟียให้กลายเป็นเป็นผู้ดูแลมนุษย์ได้ อาทิ ช่วยเหลือผู้สูงอายุภายในสถานดูแลผู้สูงอายุ หรือ งานบริการเพื่อสังคมต่างๆ"

HTML::image( HTML::image( HTML::image(