รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม MOU โครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่

08 Dec 2017
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารหอพัก 700 ปี สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 มีมติให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560 - 2564 เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงาน และได้เร่งรัดให้ทุกภาคส่วนดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมผ่านคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ระดับภาค 6 ภูมิภาค และคณะทำงานพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของจังหวัด

นายลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า การจัดประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของภาคเหนือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน อีกทั้งเป็นการสร้างความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในภาคเหนือ ทั้งในเรื่องการตรวจรับรองมาตรฐานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนการเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์และตลาดประชารัฐ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จึงทำให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายในการประสานการทำงานที่มีเป้าหมายและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

"ปัจจุบันทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญต่อการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะเกษตรกรที่นอกจากจะช่วยในเรื่องการลดต้นทุนแล้วยังมีผลดีต่อสุขภาพของตนเองด้วย เพราะไม่ต้องใช้สารเคมีในการผลิต นอกจากนี้ หลายภาคส่วนยังมีการเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบตลาด โดยมีโมเดิลเทรดหลายแห่งให้ความสำคัญและยอมรับผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่ใช้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ให้เข้าไปวางจำหน่าย ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์มีช่องทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น และยังสามารถต่อยอดสู่ตลาดประชารัฐสามัคคีได้อีกด้วย คาดว่าการพัฒนาเกษตรอินทรีย์จะเป็นยุทธศาสตร์ที่จะนำภาคการเกษตรให้มีความก้าวหน้าต่อไป" นายลักษณ์ กล่าว

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์และผ่านการรับรองมาตรฐาน จำนวน 727 ราย พื้นที่ 2,946.20 ไร่ แบ่งเป็น 4 ชนิดสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ ข้าว มีเกษตรกร 139 ราย พื้นที่ 1,130.25 ไร่ พืชและไม้ผล มีเกษตรกร 586 ราย พื้นที่ 1,811.95 ไร่ ปศุสัตว์ 1 ราย และประมง 1 ราย