สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล มูลนิธิสถาบันวิจัย ความสุขชุมชน และ ความเป็นผู้นำ เสนอผลโพล เรื่อง ความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน

08 Dec 2017
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ร่วมกับ นายแพทย์ ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนทางถนน (ศวปถ.) เปิดเผยผลสำรวจ โพล เรื่อง ความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน จำนวนทั้งสิ้น 1,196 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 5 ตุลาคม ถึง 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 82.1 คิดว่าจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายเข้มงวดกวดขัน ห้ามเด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์ ในขณะที่ร้อยละ 17.9 คิดว่า ไม่จำเป็น

เมื่อสอบถามถึง 5 อันดับแรกที่คุณคิดว่า การดูแลเรื่องความปลอดภัยทางถนนของเด็กและเยาวชนควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด พบว่า ส่วนใหญหรือร้อยละ 74.4 เป็นหน้าที่ของตำรวจ รองลงมา คือ 64.3 เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ร้อยละ 40.8 เป็นหน้าที่ของโรงเรียน ครู ร้อยละ 37.3 เป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม และร้อยละ 33.4 การดูแลเรื่องความปลอดภัยทางถนนของเด็กและเยาวชนควรเป็นหน้าที่ของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)

นอกจากนี้ การสอนทักษะการใช้ถนนอย่างปลอดภัยในทุกช่วงวัยเพื่อป้องการอุบัติเหตุทางถนน เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรลงทุน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.3 ระบุ ควรลงทุน ในขณะที่ ร้อยละ 11.7 ระบุ ไม่ควรลงทุน เพราะ มีป้ายเตือนอยู่แล้ว เป็นต้น ที่น่าสนใจ คือ ความคิดเห็น ประเทศไทย ควรมีสถาบันวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อสอบสวนสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำซาก พบว่า เกือบร้อยละร้อย หรือร้อยละ 98.3 เห็นด้วย ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 1.7 ไม่เห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม 5 อันดับแรกที่คุณคิดว่า ถ้ามีการลงทุนด้านความปลอดภัยทางถนน ลดอุบัติเหตุ รัฐบาลควรลงทุนในด้านใดบ้าง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.4 ระบุ ลงทุนให้มีระบบตรวจสอบความปลอดภัยทางถนน รองลงมา คือ ร้อยละ 47.4 ระบุ ลงทุนเทคโนโลยีการบังคับใช้กฎหมาย กล้องตรวจความเร็ว ร้อยละ 39.2 ระบุ ลงทุนหน่วยสืบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ร้อยละ 37.7 ระบุ ลงทุนฐานข้อมูลรถโดยสารสาธารณะ ในขณะที่ ร้อยละ 29.9 ระบุ ลงทุนให้หน่วยงานจัดการพื้นที่มีความเข้มแข็ง