เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์กร Protection international ร่วมกับสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย จัดโครงการCFLI -"Her Life, Her Diary" จัดทำ Side by Side WHRDs 2018 Diary สมุดบันทึกความหวังและความฝันของ 20 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนขึ้น เนื่องในวันที่ 29 พ.ย. ของทุกปีได้ถูกกำหนดให้เป็นวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสากล และในปี 2561 จะครบรอบ 20 ปีของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders) เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงผลงานการต่อสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยในสมุดบันทึกจะประกอบไปด้วยเรื่องราวจากความเป็นส่วนตัวถึงการเมือง เส้นทางต่อสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ความหวังและความฝันที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิของผู้หญิง ชุมชน สังคมในประเทศไทย นอกจากนี้เรายังต้องการให้ตระหนักถึงความท้าทายที่ผู้หญิงในประเทศไทยจะต้องเจอเวลาลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมในสังคมด้วย
น.ส.ปรานม สมวงศ์ องค์กร Protection international กล่าวว่า อยากให้เรื่องราวการต่อสู้ เรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่มีคุณค่า มีความหมาย ให้ทุกคนได้เห็นได้ยินได้รับรู้เรื่องราวของพวกเธอ เพื่อที่จะได้เห็นว่าผู้หญิงที่ทำงานทุกวัน ผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงสังคม ชุมชน มีความฝัน ความหวังอย่างไรจึงได้จัดทำเป็นไดอารี ที่บันทึกเรื่องราวของนักปกป้องสิทธิ์หญิงเหล่านี้เอาไว้ และอยากให้ทุกคนได้บันทึกเรื่องราวของตัวเองลงในไดอารี่เล่มนี้ด้วย ซึ่งสิ่งที่ได้บันทึกเอาไว้ วันหนึ่งจะกลายเป็นความทรงจำ และอาจจะมีประโยชน์ต่อสาธารณะได้
น.ส.ปรานม กล่าวถึงสถานการณ์ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในปีที่ผ่านมา ว่า การคุกคามทางกายภาพ เช่น การสังหาร การบังคับให้สูญหาย ถือว่ายังน้อยกว่าผู้ชาย แต่ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบจากคนใกล้ตัวถูกคุกคาม ถูกสังหาร ถูกบังคับให้สูญหาย จนนำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม เช่นการที่สามีถูกบังคับให้สูญหาย นอกจากนี้ 3-4 ปีที่ผ่านมา หลังการรัฐประหารผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องในประเด็นสาธารณะ ไม่ได้ถูกยอมรับและถูกโจมตี ถูกกลั่นแกล้ง ด้วยการถูกฟ้องคดีความ ให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ์เป็นอาชญากร ผู้หญิงหลายคนจึงมี "ชีวิตติดศาล" ซึ่งในหนึ่งคนโดนหลายคดีมากกว่าห้าคดี
"พวกเธอเหล่านี้ ได้รับความเหนื่อยยากมาก เพราะต้องดูแลครอบครัว หาเงินมาใช้ในการประกันตัว การสู้คดี ไหนจะต้องเดินหน้าต่อสู้อีก สิ่งสำคัญ เราต้องให้เวลาที่จะฟังผู้หญิงเหล่านี้ อยากให้สังคม ได้รับรู้การต่อสู้ปกป้องสิทธิ์ของของพวกเธอ"น.ส.ปรานม กล่าว
พร้อมกันนี้ น.ส.ปรานม ยังเปิดเผยสถิติของผู้หญิงที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่พ.ศ. 2541 – พ.ศ. 2557 ซึ่งพบว่ามีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชน ที่ต่อสู้เรื่องที่ดิน และฐานทรัพยากร และความไม่ชอบธรรมอื่นๆ ถูกฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนอย่างน้อย 63 คน แบ่งเป็น ฐานความผิดฐานบุกรุกจำนวน 7 คน ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทจำนวน 30 คน ถูกฟ้องร้องความผิดฐานบุกรุกและความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์จำนวน 8 คน ถูกฟ้องร้องให้มีความผิดฐานละเมิด,ขับไล่และเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวน 18 คน โดยในจำนวนของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกฟ้องร้องทั้งหมดในทุกคดีแบ่งเป็นภาคใต้ 38 คน ภาคอีสาน 24 คน และภาคเหนือ 1 คน
ขณะที่สถานการณ์หลังจากเกิดรัฐประหารตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบันสถิติของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชน ที่ต่อสู้เรื่องที่ดิน และฐานทรัพยากร และความไม่ชอบธรรมอื่นๆ ถูกฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนมากถึง 179 คน อันดับหนึ่งคือ ความผิดฐานบุกรุกที่ดินป่าไม้ 82 คน รองลงมา คือ ความผิดตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ และ ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นมากถึง 28 คน การฟ้องร้องความผิดฐานละเมิด,ขับไล่และเรียกค่าสินไหมทดแทน 17 คน ความผิดฐานหมิ่นประมาท 12 คน ความผิดสร้างสิ่งกีดขวางทางสาธารณะ 12 คน ความผิดฐานขัดคำสั่ง คสช 3/2558 ห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คน จำนวน 13 คนความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ 8 คน ถูกฟ้องร้องฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น 3 คน ทั้งๆที่พวกแค่ไปยื่นหนังสือและติดตามการประชุมของอบต ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จำนวน 2 คน และถูกเชื่อมโยงเกี่ยวกับคดียาเสพติด 2 คน
น.ส.ปรานม กล่าวว่า จากสถิติข้างต้นจะเห็นถึงความแตกต่างอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือการฟ้องคดีกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯในช่วงก่อนที่จะมีการรัฐประหาร ในปี พ.ศ. 2557 จะเน้นเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการในแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยที่นักปกป้องสิทธิฯหรือผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯได้ร่วมหารือร่วมกับรัฐบาลต่างๆ และสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ลดการจับกุม ลดการถูกดำเนินคดี เพราะหากมีการดำเนินคดีทางคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาจะส่งหนังสือเพื่อชะลอให้การแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จก่อน จึงทำให้คดีดังกล่าวลดลง แต่สถิติการฟ้องร้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นหลังจากที่มีการรัฐประหาร และมีการประกาศคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ที่เกี่ยวข้องกับการทวงคืนผืนป่าทำให้มีการปราบปรามนักป้องสิทธิผู้หญิงมากกว่าเดิมในเรื่องที่ดินป่าไม้
ทั้งนี้ในช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 ข้อหาที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกดำเนินคดีมากที่สุด คือความผิดฐานบุกรุก ที่รวมทั้งการบุกรุกป่าไม้ ที่ดิน ที่สาธารณะประโยชน์ และเข้าไปในพื้นที่ต่าง ๆ ความผิดตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ 2558 ความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ตามมาตรา 309 ประมวลกฎหมายอาญา,การฟ้องร้องความผิดฐานละเมิด,ขับไล่และเรียกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เมื่อรวมจำนวนสถิติของการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิแล้วจะพบว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในภาคอีสานจะถูกดำเนินคดีมากที่สุดมากถึง 120 คน รองลงมาคือภาคเหนือจำนวน 36 คน ภาคใต้จำนวน 11 คนและภาคกลางจำนวน 1 คน
สำหรับสถิติที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชน ถูกลอบสังหาร ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ถูกลอบสังหารไปแล้ว 5 คน ประกอบด้วย 1. คุณ ฉวีวรรณ ปึกสูงเนิน เจ้าหน้าที่ธุรการ ประจำองค์การบริหารส่วนตำบล นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ที่ออกมาเปิดโปงการบริหารงานที่มิชอบและการทุจริตในโครงการก่อสร้างของ อบต.นากลาง อ.สูงเนิน ถูกลอบสังหารไปเมื่อปี พ.ศ. 2544 2.คุณมณฑา ชูแก้ว สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ถูกลอบสังหารเมื่อปี พ.ศ. 2555 3.คุณปรานี บุญรักษ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ถูกลอบสังหารเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยคุณมณฑาและคุณปรานีถูกลอบสังหารจากการออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินในชุมชนคลองไทรพัฒนา อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี 4. คุณพักตร์วิภา เฉลิมกลิ่น รองประธานชุมชนบ้านหัวกระบือ ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ถูกลอบสังหารจากรณีการออกมาคัดค้านการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนทรายในพื้นที่ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง โดยถูกลอบสังหารเมื่อปี พ.ศ. 2547 และ 5.คุณศิริพร เกิดเรือง ภรรยา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลกรุงชิง นักอนุรักษ์กรุงชิง จ.นครศรีธรรมราช ที่ถูกลอบสังหารไปเมื่อปี พ.ศ. 2557 จากการต่อสู้ในกรณีที่ออกมาต่อต้านเรื่องการก่อสร้างเหมืองแร่ในตำบลกรุงชิง
น.ส.ปรานม กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ของการถูกคุกคาม ส่วนใหญ่ที่ได้รับการแจ้ง จะมีขั้นตอนของการคุกคามต่างๆ ดังนี้ 1.การโทรศัพท์ข่มขู่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ โดยเฉพาะขู่ถึงครอบครัว 2.การบุกมาหามาหาถึงบ้านหรือการบุกเข้าหาครอบครัวของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิและการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลาจากหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ ซึ่งก็จะทำให้เพื่อนบ้านและครอบครัวของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเกิดความตกใจและหวาดกลัว และผู้หญิงถูกมองว่ากระทำผิด 3.หากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯเป็นผู้ที่มีตำแหน่งทางราชการ ก็จะคอยสอดส่อง และมีการร้องเรียนเรื่องวินัย ว่าใช้เวลาราชการมาทำงานเรื่องการเคลื่อนไหว ใช้ตำแหน่งในการกดดัน 4.มีการดักฟังทางโทรศัพท์ การติดตามความเคลื่อนไหว การตามไปยังสถานที่ต่างๆ 5. ใช้กระบวนการทางกฎหมายฟ้องร้องเพื่อยุติการเคลื่อนไหว 6. หากพื้นที่ขัดแย้งมีผลประโยชน์จำนวนมาก นายทุนก็จะเสนอเงินหรือเสนอตำแหน่งในการทำงานให้กับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ และหากมีการปฏิเสธก็จะเริ่มใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหว เมื่อมีการฟ้องร้องก็จะใช้กระบวนการต่อรองเจรจาว่าจะมีการถอนฟ้องคดีหากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทำตามข้อเรียกร้อง 7. เมื่อมีการข่มขู่คุกคามทุกรูปแบบแล้วไม่ยุติการเคลื่อนไหวของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิได้ก็จะมาสู่กระบวนการคุกคามขั้นตอนสุดท้ายคือการลอบสังหารผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวในเวทีพูดคุยถึงสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิฯของผู้หญิงที่ลุกขึ้นปกป้องสิทธิมนุษยชน ว่า ส่วนตัวในฐานะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ จนกลายมาเป็นนักปกป้องสิทธิฯ ยอมรับว่าช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก เนื่องจากไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน และมีภาระหลายอย่างที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งการเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อคืนศักดิ์ศรี และยังต้องดูแลครอบครัว ดูแลสภาพจิตใจของลูกๆ ท่ามกลางบรรยากาศของความหวาดกลัว และบรรยากาศของความไม่ปลอดภัย และการคุกคาม ซึ่งตอนนั้นมีคำถามกับตัวเองว่าเราจะผ่านไปได้อย่างไร"รัฐไม่เคยเข้ามาช่วยอำนายความยุติธรรม เลือดตาแทบกระเด็น ที่จะนำพาครอบครัวให้เดินต่อไปได้ ทุกวันนี้ยังคิดว่าจนเราตายไปแล้วก็ไม่ได้ความเป็นธรรม แต่เราก็ยังมีความหวัง การสูญเสียที่เกิดขึ้นทำให้ชีวิตเราไม่มีวันเป็นแบบเดิม ไม่มีวันที่จะได้ใช้ชีวิตปกติ บางทีต้องไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม เขาก็หนีหน้าเราหมด รู้สึกถูกลดทอนศักดิ์ศรี ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนอยากพบ บางทีต้องไปดักรอที่หน้าลิฟท์ ถามตัวเองว่าทำไมเราต้องทำถึงขนาดนี้ ทั้งที่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องอำนวยความยุติธรรมให้"นางอังคณาระบุ
นางอังคณา กล่าวว่า ที่ผ่านมากสม.ได้รับคำร้องจากนักปกป้องสิทธิจำนวนมาก ในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบางคนอาจมองว่าชาวบ้านในภูมิภาคนี้อาจเป็นคนที่เห็นต่างจากรัฐ ชอบคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ จึงเกิดเป็นความหวาดระแวง และนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหา หรือจับกุมโดยการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านนั้นไม่ใช่แค่เพียงคดีเดียว แต่ชาวบ้านมักถูกจับในหลายข้อหาหลายคดี เมื่อชาวบ้านใช้เงินส่วนตัวประกันตัวเองในคดีที่ 1 ไปแล้ว ถามว่าในคดีที่ 2 ที่ 3 จะนำทรัพย์สินส่วนไหนมาประกันตัวได้อีก ซึ่งการเข้าถึงกองทุนฯนั้นผู้พิจารณาคือระดับจังหวัด แต่ทางจังหวัดจะอ้างว่ากลุ่มคนเหล่านี้กระทำผิดชัดเจน เช่น ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยที่ไม่พิจารณาว่าที่ชาวบ้านต้องออกมาคัดค้านไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาทรัพยากรให้คนรุ่นต่อๆไป
"พบว่าส่วนมากกกลุ่มทุน หรือ รัฐบาล มักจะฟ้องร้องคนที่ออกมาคัดค้านโครงการ โดยบริษัทมักบอกว่าฟ้องไปก่อน แล้วค่อยไปเจรจาในชั้นศาล แต่เวลามีการเจรจาในชั้นศาล ชาวบ้านมักจะเสียเปรียบ เพราะในการเจรจาในศาลเนื่องจากชาวบ้านไม่รู้กฎหมาย ทำให้เสียเปรียบในการเจรจาต่อรอง อีกทั้งเมื่อถูกฟ้องจะทำให้ชาวบ้านไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือไม่สามารถพูดถึงปัญหาผลกระทบของโครงการนั้นๆได้อีก" นางอังคณากล่าว "ในความเป็นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนพวกเธอต้องดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว พร้อมๆกันพวกเธอยังต้องเผชิญกับการคุกคามซ้ำซ้อนด้วยการถูกล่วงละเมิดเพราะความเป็นหญิง"
นางอังคณา ระบุด้วยว่า อยากให้รัฐใส่ใจในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐต้องไม่ปกป้องเจ้าหน้าที่ที่ทำผิด ขณะที่นางอัศนีย์ รอดผล ตัวแทนชุมชนน้ำแดง สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ กล่าวว่าปี 2559 มีเอกชนเข้ามาอ้างสิทธิและตัดปาล์มในแปลงที่ชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนา ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ปลูกไว้ในพื้นที่ทิ้งร้าง และดำเนินคดีกับเกษตรกรทั้งทางอาญาและแพ่งหลายคดี หนึ่งในนั้นคือกรณีที่ตำรวจ สภ.ชัยบุรี จับกุมเกษตรกรชุมชนน้ำแดงพัฒนาตามหมายจับ จำนวน 15 คน ทั้งหมดถูกเรียกหลักทรัพย์ในการปล่อยตัวชั่วคราวสูงถึงคนละ 6 แสนบาท
"ตอนนี้เกษตรกรถูกจับกุมในข้อหา ซ่องโจร บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ ใน 15 คน มีผู้หญิงติดไปด้วยอีก 2 คน คนหนึ่งก็มีลูกที่ยังเล็กอยู่ อีกคนหนึ่งก็อายุ60 กว่าแล้ว ตอนนั้นเราไปขอกองทุนในการประกันตัว ที่กองทุนยุติธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ถูกบ่ายบี้ยงมาโดยตลอด เหมือนกับแกล้งกัน ชาวบ้านจึงหยิบยืม-กู้เงิน ญาติพี่น้องเพื่อมาประกันตัว ซึ่งบางคนถูกคุมขังยาวนานถึง 48 วัน เพราะไม่สามารถหาเงินมาประกันตัวได้"
นางสาวชุทิมา ชื่นหัวใจ สมาชิกกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าวว่า แกนนำกลุ่มถูกนายทหารระดับสูงเชิญไปพบ โดยอ้างว่าจะได้พบกับผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ซึ่งแกนนำก็ไม่ปฏิเสธ เพราะคาดหวังว่าจะให้ข้อมูลข้อเท็จจริงในการให้สัมปทานครั้งนี้ แต่พอไปถึงเจอนายทหารคนหนึ่ง เขาบอกว่าได้รับอำนาจเต็มจากผบ.มทบ.32 ซึ่งจะมาพูดคุยกับเราแทน ทางกลุ่มจึงก็ปฏิเสธไป เพราะเคยพบเจ้าหน้าที่ทหารคนนี้แล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ประทับใจ เนื่องจากบอกว่า ที่หมู่บ้านมีแต่ป่าเสื่อมโทรม มีแต่ป่าไผ่ หน่อไม้จะหาที่ไหนกินก็ได้ แต่ถ้ามีเหมืองจะมีการสร้างงานในพื้นที่
"นายทหารคนนั้นเขาไม่อนุญาต สั่งให้สห.ปิดห้องขังพวกเราอยู่ในนั้น และสั่งห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ไม่เช่นนั้นจะยึด จากนั้นเขาก็ให้พวกเรานั่งฟังเขาพูด 4 ชั่วโมง ถามว่าทำไมเราไม่คุยดีๆกับบริษัท อย่าเอาแต่ปิดเหมือง เพราะหาทางออกให้ไม่ได้ นอกจากนี้นายทหารคนดังกล่าว ยังนำรูปถ่ายของเธอและกลุ่มคนรักษ์บ้านแหง มาแสดงพร้อมระบุว่า ทางกลุ่มได้ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ทั้งที่เราไม่ได้ไปชุมนุม แต่ไปเตรียมเอกสารเรื่องคดีที่ถูกฟ้องร้องในศาล เขาก็ยังมาพูดจากดดันต่างๆนาๆ จนกระทั่งปล่อยตัว"
นางสาวชุทิมา กล่าวว่า ทุกวันนี้สมาชิกกลุ่มบ้านแหงก็ยังคงต่อสู่อยู่ โดยมีความหวัง คือ ไม่ให้มีการทำเหมืองที่นี่ และเพื่อที่วิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่จะได้กลับไปมีความสุข ความสงบเช่นเดิมด้านนางรอกีเย๊าะ สะมะแอ เครือข่ายฅนรักษ์เมืองเทพา จ.สงขลา กล่าวว่า การประกาศตัวที่จะต่อสู้คัดค้าน โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด2,200 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ของตนเอง ทำให้ตกเป็นเป้าของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ จนวันหนึ่งปลัดอำเภอเทพาในนามของผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงกับเดินทางไปพบตนที่บ้าน เพื่อสอบถามเหตุผลที่เธอต้องคัดค้านโครงการนี้"โรงไฟฟ้าแห่งนี้ต้องเผาถ่านหินตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้ถ่านหินถึงวันละ 23 ล้านกิโลกรัม และจะปล่อยควันจากการเผาไหม้ผ่านปล่องควันที่สูงกว่า 200เมตร ซึ่งมลพิษเหล่านี้สามารถอยู่ในอากาศได้นานถึง 10 วัน โดยผลกระทบเหล่านี้จะกินพื้นที่ไปถึง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย "นางรอกีเย๊าะกล่าวนางรอกีเย๊าะ ยังกล่าวถึงเหตุปะทะระหว่างเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กับฝ่ายความมั่นคง ระหว่างการดักรอยื่นหนังสือคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จ.สงขลา จนทำให้แกนนำถูกจับกุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหารวม 16 คน รวมถึงเยาวชนหนึ่งคนว่า อยากจะสะท้อนให้ไปถึงนายกรัฐมนตรี ว่าที่ผ่านมานายกฯ ไม่เคยฟังเสียงชาวบ้านเลย โครงการดังกล่าวมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก แต่นายกฯ ไม่เคยรู้ว่าความเดือดร้อนที่พวกเราจะต้องเจอมีอะไรบ้าง
"นายกฯได้โปรดฟังชาวบ้านบ้าง อย่าฟังแต่นายทุน เสียงชาวบ้านคนเดียวนายกฯ ยังต้องฟัง นี่ชาวบ้านเป็นร้อยเป็นพันคนนายกฯยิ่งจะต้องฟัง เหตุการณ์ที่เกิดกับพี่น้องเรา สะเทือนใจมาก ชาวบ้านธรรมดาๆ ถึงกับต้องเอาทหาร ตำรวจ มาเป็นกองร้อย พูดง่ายๆ ไม่สมศักดิ์ศรีนายกฯเลย พวกเราไม่ใช่ฆาตรกร ไม่ใช่ผู้ร้ายข้ามแดน เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาที่อยากบอกเล่าความทุกข์ยากของเราให้นายกฯฟัง" นางรอกีเย๊าะกล่าวพร้อมยืนยันว่าการเคลื่อนไหวคัดค้านจะมีต่อไปเพราะได้ปฏิญาณในใจแล้วว่าจะเดินหน้าลูกเดียวไม่ว่าจะเกิดอะไรกับตนขึ้นก็ตาม
ทั้งนี้ภายหลังการเปิดตัวได Side by Side WHRDs 2018 Diary สมุดบันทึกความหวังและความฝัน 20 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทั้งหมดที่เข้าร่วมงานและองค์กร Protection international ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนในการคุ้มครอง ปกป้อง ดูแลผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ซึ่งแถลงการณ์ระบุว่า
1.รัฐต้องยุติวัฒนธรรมทำผิดแล้วลอยนวลพ้นผิด การเลือกปฏิบัติและการใช้หลักนิติธรรมเป็นข้ออ้างในการจัดการกับประชาชน และปฏิเสธไม่ให้ประชาชนเข้าความยุติธรรม รวมถึงต้องมีกระบวนการทบทวนอย่างโปร่งใสในกรณีที่มีการใช้คดีเป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
2.รัฐและสาธารณชนต้องยอมรับและตระหนักถึงคุณค่าของบทบาทที่สำคัญของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและต้องมีหลักประกันว่าจะมีการปกป้องคุ้มครองและสนับสนุนอย่างเต็มเพื่อเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิตของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
3. รัฐต้องยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆที่เป็นอุปสรรคที่ร้ายแรงต่อการทำงานของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มาตรา 44, คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และคำสั่งและกฎหมายอื่น ๆ โดยเฉพาะการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะและเสรีภาพในการแสดงออก การจำกัดสิทธิที่สำคัญเหล่านั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดกับสิ่งที่รัฐบอกว่าปรารถนาให้มีส่วนร่วมจากประชาชนสำหรับงานแถลงข่าวเปิดตัวไดอารี่ Side by Side WHRDs 2018 Diary สมุดบันทึกความหวังและความฝัน 20 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นอกจากจะมีเวทีพูดคุยถึงสถานการณ์ความและแนวทางการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้หญิงที่ลุกขึ้นปกป้องสิทธิมนุษยชนโดย 20 ผู้หญิงที่เล่าเรื่องราวบันทึกข้อมูลในไดอารี่ อาทิ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ,สมหมาย จันทร์ตาวงศ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ทำงานเพื่อสิทธิของพนักงานบริการ,ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์,ศรีไพร นนทรี ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง,นุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ,อัศนีย์ รอดผล สหพันธ์เกษตรภาคใต้ ,อรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน ,นลัทพร ไกรฤกษ์ ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวประชาไท และ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวคนพิการทางเลือกwww.thisable.me,ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้ว ตลอดทั้งวันยังมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายบันทึกความหวังและความฝันของ 20 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดย Luke Duggleby ช่างภาพมือรางวัลระดับโลกอีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit