นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายปรับโครงสร้างสินค้าเกษตรใหม่ โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด และยกระดับเกษตรกรให้ก้าวสู่นักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปหรือ SME เกษตร เพื่อให้เกิดการขยายตัวเศรษฐกิจของชุมชนในระดับฐานรากของประเทศ พร้อมทั้งได้สนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรที่เข้มแข็งและมีศักยภาพเข้ามา มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการสินค้าการเกษตร ด้วยการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมและองค์ความรู้ต่าง ๆ เข้ามาใช้บริหารจัดการตั้งแต่ระดับการผลิต การแปรรูป และการตลาด กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้คัดเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพ ในด้านการดำเนินธุรกิจการเกษตรแบบครบวงจร จากสหกรณ์การเกษตรทั้งหมด 3,000 กว่าแห่ง ทั่วประเทศ สามารถคัดสหกรณ์ที่มีความพร้อมจะพัฒนาให้เป็น SME เกษตร จำนวน 1,240 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกเป็นสหกรณ์ที่มีเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจและมีศักยภาพในด้านการส่งเสริมสมาชิกผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญ โดยสหกรณ์ทำหน้าที่ในการรวบรวมและแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าส่งจำหน่ายสู่ตลาด มีจำนวน 705 แห่ง ซึ่งกรมฯจะเข้าไปส่งเสริมเรื่องการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดในการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและขยายช่องทางตลาดรองรับ
สหกรณ์กลุ่มที่ 2 เป็นสหกรณ์ที่มีการรวบรวมผลผลิตการเกษตร แต่ยังไม่มีการรวมเป็นกลุ่มผู้ผลิต เพื่อพัฒนารูปแบบแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าและยังขาดช่องทางการตลาด มีจำนวน 410 แห่ง ซึ่งจะต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการและการรวมกลุ่มสมาชิก พัฒนากระบวนการผลิตและการแปรรูป พร้อมทั้งสนับสนุนเงินทุนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การตลาด การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าและยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้รับรองมาตรฐาน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จึงจะผลักดันสินค้าการเกษตรของสหกรณ์กลุ่มนี้ออกสู่ตลาดได้
สำหรับสหกรณ์กลุ่มที่ 3 เป็นสหกรณ์ที่รวมกลุ่มดำเนินธุรกิจแล้ว แต่ยังไม่มีการรวบรวมสินค้าการเกษตร มีอยู่จำนวน 125 แห่ง ทางกรมฯจะประสานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าไปแนะนำส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้สมาชิกสหกรณ์เหล่านี้ผลิตสินค้าการเกษตรซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด และพัฒนาระบบบริหารจัดการของสหกรณ์ให้มีความพร้อมสำหรับการรวบรวมและขยายช่องทางตลาดสินค้าให้แก่เกษตรกร ซึ่งอาจจะต้องใช้เงินทุนเข้ามาสนับสนุนในเรื่องการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรและพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน และออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยสหกรณ์สามารถยื่นขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพื่อมาดำเนินการ ในส่วนนี้ได้ ส่วนการขยายช่องทางการตลาดสินค้าสหกรณ์ กรมฯจะสนับสนุนให้สหกรณ์เปิดพื้นที่เป็นตลาดกลางสินค้าการเกษตรเพิ่มขึ้นอีก 6 แห่ง และจะเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าสหกรณ์ ยกระดับสหกรณ์ให้ก้าวเข้าสู่ ยุคการค้าสมัยใหม่ด้วยการพัฒนาระบบ E-commerce เชื่อมโยงสินค้าสหกรณ์ไปสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้มีการเปิดเวปไซต์ www.coopshopth.com ขึ้นมารองรับการเปิดตลาดสินค้าสหกรณ์ผ่านช่องทางระบบออนไลน์เรียบร้อยแล้ว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit