สมาพันธ์ปศุสัตว์ฯ ร้องพาณิชย์ยกเลิกมาตรการ 3:1 หวั่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และแปรรูปอาหารเจ๊งทั้งห่วงโซ่

22 Dec 2017
สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ[11 สมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจปศุสัตว์และสัตว์น้ำ ยื่นหนังสือเรียกร้องกระทรวงพาณิชย์ ขอให้ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าสาลีในสัดส่วน 3:1 แจงข้อเท็จจริงคนได้ประโยชน์คือพ่อค้าคนกลางไม่ใช่เกษตรกร
สมาพันธ์ปศุสัตว์ฯ ร้องพาณิชย์ยกเลิกมาตรการ 3:1 หวั่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และแปรรูปอาหารเจ๊งทั้งห่วงโซ่

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล เลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวว่า สมาชิกทั้ง 11 สมาคม ร่วมกันทำหนังสือถึงนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 เรียกร้องให้กระทรวงฯพิจารณายกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีในสัดส่วน 3:1 (ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน) เนื่องจากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้ราคาข้าวโพดในประเทศสูงกว่าราคาตลาดและความเป็นจริง และกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์รวมถึงต้นทุนการเลี้ยงสัตว์สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาราคาตกต่ำและขาดทุนต่อเนื่องในปีนี้

หากรัฐบาลไม่มีการทบทวนมาตรการดังกล่าว จะส่งผลให้โรงงานอาหารสัตว์และเกษตรกรภาคปศุสัตว์ประสบปัญหาขาดทุนจนต้องล้มเลิกกิจการลงในที่สุด และต้นทุนข้าวโพดที่สูงขึ้นบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันการส่งออกเนื้อไก่เมื่อเทียบกับเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งของไทย ที่สำคัญต้นทุนที่สูงขึ้นกระทบต่ออุตสาหกรรมการส่งออกเนื้อไก่ไทยที่มีมูลค่าปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท"นายพรศิลป์ กล่าวย้ำ

กระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการควบคุมและกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลี:ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยขอให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดในราคาไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อกิโลกรัม ณ โรงงานกรุงเทพฯและปริมณฑล ตั้งแต่ปลายปี 2559 เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงและยกระดับราคาในประเทศ ขณะที่การนำเข้าข้าวสาลีมาใช้ทดแทนเป็นการแก้ปัญหาข้าวโพดในประเทศขาดแคลน

นายพรศิลป์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวทำให้การนำเข้าข้าวสาลีมีความยากลำบากเพราะกำหนดสัดส่วนการซื้อข้าวโพดในประเทศสูง ประกอบกับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 9.10 - 9.50 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลกที่ซื้อขายกันอยู่ที่กิโลกรัม 4-5 บาทเท่านั้น ที่สำคัญผู้ผลิตอาหารสัตว์ไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีได้เพราะราคาข้าวโพดในประเทศอยู่ในมือพ่อค้าคนกลางหมดแล้ว และต้องการขายในราคา 10 บาทต่อกิโลกรัม ปี 2560 ประเทศไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ 4.6 ล้านตัน เมื่อรวมกับการนำเข้าข้าวสาลีตั้งแต่ต้นปีจำนวน 1.27 ล้านตัน รวมแล้วมีวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารสัตว์เพียง 6 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 8.1 ล้านตัน

ในช่วงที่ราคามีการปรับขึ้น เกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์เพราะเป็นช่วงที่เกษตรกรขายผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปหมดแล้ว นายพรศิลป์ กล่าว

นายพรศิลป์ กล่าวต่อไปว่า การพิจารณายกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และภาคปศุสัตว์ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้

นอกจากนี้ สมาพันธ์ฯ ขอให้รัฐบาลทำการปราบปรามอย่างจริงจังการลักลอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสวมสิทธิ์ฉวยประโยชน์จากการขาดแคลน ซึ่งเกิดผลกระทบเกษตรกรและต้นทุนผู้ผลิตอาหารสัตว์อย่างรุนแรง คือ กดราคาซื้อจากเกษตรกรให้ต่ำเพราะอุปทานข้าวโพดเพิ่มขึ้น และนำมาขายปนกับข้าวโพดไทยในราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเพิ่มเป็นกำไรส่วนตัวจำนวนมาก นายพรศิลป์ กล่าวย้ำ

สำหรับ 11 สมาคมปศุสัตว์และสมาคมสัตวน้ำ ที่เป็นสมาชิกสมาพันธ์ฯ ประกอบด้วย สมาคมปศุสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ สมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก สมาคมกุ้งไทย และสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย./