ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า "กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ร่วมกับโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ในสังกัดกองทัพอากาศ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและ ดาราศาสตร์ (LESA) ภายใต้การสนับสนุนของกองทัพอากาศ จัดการแข่งขันดาวเทียมกระป๋อง ครั้งที่ 1 ประจำปี 2560 รอบชิงชนะเลิศ หรือ Regulations of 1st Thailand CANSAT Competition 2017 หวังสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีดาวเทียม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศต่อไป ระหว่างวันที่ 9 - 11 ธันวาคม 2560 ณ อพวช. คลองห้า จ.ปทุมธานี และกองบังคับการ กองบิน 2 จ.ลพบุรี ซึ่งมีเยาวชนผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศถึง 12 ทีม"
ผลปรากฎว่า น.ส.ภัททิยา พิบูลจินดา น.ส.มทินา เจริญวัฒน์ และนายธนิสร อุ่นปิติพงษา ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 5 จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ โดยมีนายเทพรักษ์ วีปาลมา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 พร้อมรางวัล The Best Scientific Award ด้วยภารกิจจำลองการเก็บตัวอย่างและปริมาณฝุ่นในชั้นบรรยากาศ เพื่อนำมา วิเคราะห์จุลินทรีย์และแบคทีเรียซึ่งสามารถบอกโรคที่เกิดจากฝุ่นประเภทนั้น ๆ ได้ รางวัลรองชนะเลิศ และรางวัล The Best Technical Award ตกเป็นของ นายธนไท เลิศเพชรพันธ์ นายจิรายุ บูรพาชีพ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และนายวาริช บุญสนอง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โดยมีนายอดิเรก พิทักษ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ด้วยภารกิจจำลองการทำงานของยานอวกาศที่กำลังเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ โดยทำงานแจ้งเตือนสถานะของยานมาสู่ ศูนย์บัญชาการที่ภาคพื้น พร้อมเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมที่ดาวเทียมกระป๋องผ่าน ระหว่างการตก เช่น ปริมาณก๊าสชนิดต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และสุดท้ายรางวัลThe Best Communication Award เป็นของนายปาลพงศ์ อัศวพัฒนากูล นายณัฐกานต์ แก้วไพรำ และนายตะวัน ทรัพย์พาลี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนโยธินบูรณะ ด้วยภารกิจการศึกษามลภาวะของแต่ละระดับชั้นบรรยากาศและการคาดคะเนการแพร่กระจายของมลภาวะ
น.ส.ภัททิยา พิบูลจินดา กล่าวถึง ภารกิจดาวเทียมกระป๋อง หรือ CanSat ว่า "ในการแข่งขันในครั้งนี้ มีภารกิจเก็บตัวอย่างและตรวจวัดปริมาณฝุ่นในชั้นบรรยากาศ เพื่อนำมาวิเคาระห์จุลินทรีย์และแบคทีเรียซึ่งสามารถบอกโรคที่อาจเกิดจากฝุ่น ๆ ประเภทนั้น ๆ ได้ และยังสามารถต่อยอดไปสู่การวัดปริมาณก๊าซพิษชนิดต่าง ๆ เพื่อนำมาเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อตรวจเช็คคุณภาพอากาศได้ โดยตนเองและเพื่อน ๆ ในทีมมีความคาดหวังว่าจะได้มีโอกาสพัฒนาดาวเทียมกระป๋องต่อไป เพื่อทำภารกิจไปเก็บตัวอย่างฝุ่นจากดาวดวงอื่น ๆ บ้าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ต่อยอดในการประเมินความเป็นไปได้ในการเข้าไปอยู่อาศัยของมนุษย์ต่อไป"
ผศ.ดร. รวิน ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "รู้สึกยินดีกับเยาวชนทุกคนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ รางวัลเป็นเพียงแรงจูงใจ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสำเร็จ แต่สิ่งที่เยาวชนทุกคนรวมถึงครูอาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้มากกว่านั้น คือมิตรภาพ ประสบการณ์การเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ได้ลงมือปฎิบัติจริง พร้อมคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศ การสร้างและการพัฒนาดาวเทียม ในอนาคตเราคาดหวังว่าเด็ก ๆ กลุ่มนี้จะโตไปเป็นกำลังสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีศักยภาพพร้อมสำหรับการแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไป"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit