ฟิทช์ปรับแนวโน้มเครดิต บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ เป็นลบ คงอันดับเครดิตที่ A+(tha)

19 Dec 2017
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ที่ 'A+(tha)' และปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบจากมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F1(tha)'

การปรับแนวโน้มอันดับเครดิต สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ จะเพิ่มสูงกว่าระดับที่เคยประมาณการไว้ และใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้เดิมในการลดลงมาสู่ระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากค่าใช้จ่ายลงทุนสำหรับโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและผลประกอบการที่อ่อนแอลงในปี 2560 เนื่องจากผลกระทบจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันอากาศยาน การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถที่ลดลงของบริษัทฯ ในการรักษาสถานะทางเครดิตให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวนมากที่ใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม และการเปลี่ยนแปลงของโครงการลงทุนที่อาจเกิดขึ้น ต้นทุนค่าก่อสร้างที่อาจเพิ่มขึ้น หรือความล่าช้าของโครงการ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

อัตราส่วนหนี้สินจะอยู่ในระดับสูงในเวลาที่นานขึ้น : ฟิทช์คาดว่าจากต้นทุนของโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทย ที่เพิ่มสูงขึ้นจำนวน 1.7 พันล้านบาทตามที่บริษัทฯ ได้ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ จะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO –adjusted net leverage) เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.0 เท่า ถึง 3.5 เท่า ในช่วงปี 2561-2562 ซึ่งสูงกว่าระดับ 2.5 เท่า ถึง 3.0 เท่า ที่คาดไว้เดิม อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS น่าจะลดลงมาอยู่ในระดับ 2 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันได้ในปี 2564 หรือ 2 ปีหลังจากได้รับรายได้จากการดำเนินงานเต็มปีของส่วนต่อขยายของท่อขนส่งน้ำมัน

ภาษีสรรพสามิตชะลอการเติบโตของความต้องการเติมน้ำมัน: ฟิทช์คาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 ต่อปีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 4-5 ต่อปีที่ประมาณการไว้เดิม การปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากน้ำมันอากาศยานที่ทำการเติมเพื่อใช้ในเส้นทางการบินภายในประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 น่าจะส่งผลให้อัตราการเติบโตของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานในปี 2560 อยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 2 ต่อปีเมื่อเทียบกับร้อยละ 7-9 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจทั้งในประเทศและทั่วโลก การเติบโตที่ต่อเนื่องของการท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุด 2 ลำดับแรกของประเทศไทย

สถานะความเป็นผู้นำ: อันดับเครดิตของ BAFS สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในการให้บริการน้ำมันอากาศยานในประเทศไทย โดย BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Depot Service) และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน (Hydrant Pipeline Network) แต่เพียงรายเดียว ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นผู้ให้บริการหลักในส่วนของบริการเติมน้ำมันอากาศยาน (Into-Plane Fuelling Service) ณ ท่าอากาศยานดังกล่าว โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานประมาณร้อยละ 88 BAFS อยู่ในธุรกิจที่มีสภาพการแข่งขันที่ต่ำและได้รับประโยชน์จากอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจที่สูงของผู้บริการรายใหม่ เนื่องจากผู้ให้บริการต้องได้รับการอนุญาตจากท่าอากาศยานนั้นๆ จึงจะให้บริการได้

ความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาน้ำมันที่จำกัด: BAFS ไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจาก BAFS จะเรียกเก็บเฉพาะค่าบริการเติมน้ำมันจากบริษัทน้ำมันเท่านั้น (โดยบริษัทน้ำมันเป็นผู้ขายน้ำมันให้แก่สายการบิน) นอกจากนี้ ต้นทุนหลักของ BAFS เป็นค่าสัมปทานซึ่งเป็นอัตราที่ตกลงกันก่อนตามสัญญา ทำให้อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรของ BAFS ค่อนข้างคงที่

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

ลักษณะของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BAFS มีความคล้ายคลึงกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSG (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A(tha)/เครดิตพินิจเป็นลบ) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ในกรุงเทพมหานคร รายได้ของ GPSC ส่วนใหญ่มาจากสัญญาการขายไฟฟ้าและไอน้ำ กับลูกค้าซึ่งมีสถานะทางธุรกิจและการเงินที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ ประมาณร้อยละ 30 ของรายได้ของ BTSG มาจากธุรกิจสัมปทานที่ไม่มีคู่แข่งขันทางตรง ซึ่งคือรายได้จากการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาของระบบรถไฟฟ้าลอยฟ้าในกรุงเทพมหานคร ดังนั้นบริษัทเหล่านี้จะมีรายได้ที่สม่ำเสมอและคาดการณ์ได้ในระดับสูง ณ สิ้นปี 2559 บริษัททั้งสามมีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 1 เท่า แม้ว่าอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS และ BTSG น่าจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสามปีข้างหน้าจากแผนการลงทุนที่สูง เนื่องจาก BTSG มีธุรกิจในด้านสื่อโฆษณา การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการบริการ ซึ่งทำให้ BTSG มีความเสี่ยงทางธุรกิจที่สูงกว่า BAFS และ GPSC ทำให้ BTSG มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า 2 บริษัทดังกล่าว

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานมีการเติบโตในอัตราร้อยละ 1.5-2.0 ในปี 2560 และประมาณร้อยละ 3 ต่อปีในปี 2561-2562
  • โครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันแล้วเสร็จและเริ่มสร้างรายได้ในปี 2562
  • อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและ ค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) คงที่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 58 ในปี 2560-2562
  • ค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวน 3.0 พันล้านบาทในปี 2560 จำนวน 5.0 พันล้านบาทในช่วงปี 2561 และจำนวน 1.5-1.6 พันล้านบาทในปี 2562 ซึ่งได้รวมเงินลงทุนในโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันแล้ว

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับกลับมาเป็นมีเสถียรภาพ หากบริษัทฯ สามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยลบ:

ผลประกอบการที่อ่อนแอลง การเริ่มเปิดดำเนินการที่ล่าช้ากว่าที่คาดของโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมัน หรือต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูง ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน อยู่ในระดับที่สูงกว่า 2.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่อง

สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: BAFS มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดเงินสดคงเหลือที่เพียงพอ และระยะเวลาการชำระหนี้คืนที่มีการกระจายตัวที่ดี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 BAFS มียอดเงินสดคงเหลือที่ไม่มีภาระผูกพันและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 2.2 พันล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินกู้ยืมที่ครบกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 485 ล้านบาท นอกจากนี้สภาพคล่องของ BAFS ยังได้รับการสนับสนุนจากวงเงินสินเชื่อแบบผูกพันไว้แล้วที่ยังไม่ได้เบิกถอน (Undrawn Committed Facility) จำนวน 6.5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 รวมถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง