นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนตุลาคม 2560 ว่า "เศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 – 4.0) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 และเป็นการขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในครั้งก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นไปตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยและจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงปีหลัง โดยเฉพาะการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือในหมวดยานยนต์ ซึ่งสะท้อนได้จากการปรับตัวเร่งขึ้นของยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามรายได้ครัวเรือนในภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สำหรับการบริโภคภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มชะลอลงจากการเบิกจ่ายลงทุนภายใต้งบเพิ่มเติมปี 2560 ที่ค่อนข้างเป็นไปอย่างล่าช้า แต่คาดว่าจะสามารถทยอยเบิกจ่ายและเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจในปีถัดไป สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 - 0.9) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และแนวโน้มต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2561 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 – 4.3) โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ตามกรอบรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น สำหรับอุปสงค์ภายนอกประเทศ คาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทยอันเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9 – 1.9) ปรับตัวสูงขึ้นจากปีนี้ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป"
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว"
รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2560 และ 2561
1. เศรษฐกิจไทยในปี 2560
1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 – 4.0) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 และเป็นการขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในครั้งก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.8 – 6.2) ซึ่งเป็นไปตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยและจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงปีหลัง โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.6 – 3.0)โดยเฉพาะการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือในหมวดยานยนต์ ซึ่งสะท้อนได้จากการปรับตัวเร่งขึ้นของยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.8 ในไตรมาสที่ 3 สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่มีการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ร้อยละ 3.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 – 3.5) ตามรายได้ครัวเรือนในภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สำหรับการบริโภคภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า ส่งผลให้การบริโภคภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2 – 2.6) อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มชะลอลงมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.1 – 4.5) จากการเบิกจ่ายลงทุนภายใต้งบเพิ่มเติมปี 2560 ที่ค่อนข้างเป็นไปอย่างล่าช้า แต่คาดว่าจะสามารถทยอยเบิกจ่ายและเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจในปีถัดไป
1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 – 0.9) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามแนวโน้มต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 43.0 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 9.7 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.5 - 9.9 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลที่ 29.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 29.7 – 30.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 14.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 13.8 – 14.2) ในขณะที่มูลค่าสินค้าส่งออกคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 8.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.3 – 8.7)
2. เศรษฐกิจไทยในปี 2561
2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 – 4.3) โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ตามกรอบรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2561 และกรอบการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 2.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 – 3.1) และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 11.4 – 12.4) นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะยังขยายตัวในอัตราเร่งร้อยละ 3.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 ถึง 3.9) สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ร้อยละ 3.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 – 3.9) จากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรได้รับผลดีจากภาวะตลาดแรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวขึ้นของการใช้จ่ายภาครัวเรือน สำหรับอุปสงค์ภายนอกประเทศ คาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทยอันเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ร้อยละ 4.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 – 4.5) ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.9 – 5.9) สอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกด้วย
2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9 – 1.9) ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศคาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 42.4 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 8.8 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.3 – 9.3 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 27.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 26.7 – 27.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 7.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.4 – 8.4) ขณะที่มูลค่าสินค้าส่งออกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.2 – 6.2)
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3223