1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาค โดยที่ประชุมเห็นว่าเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นมีแนวโน้มฟื้นตัวตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) และเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว (Advanced Economies) อย่างไรก็ดี สำหรับระยะปานกลาง เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญความท้าทายต่าง ๆ อาทิ ภาวะตลาดเงินที่ตึงตัวมากขึ้น การชะลอตัวในภาคการผลิต และความเสี่ยงจากประเด็นทางการเมือง (Geopolitical Risks) เป็นต้น ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเปคยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดย ADB และ APEC Policy Support Unit คาดว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเปคในปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.4 - 3.8 จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 ตามการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยที่ประชุมสนับสนุนให้สมาชิกเอเปคจะต้องร่วมมือกันในการดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและทั่วถึงในภาคการคลัง การเงิน และการปฏิรูปโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในระยะปานกลาง
2. การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบู โดยที่ประชุมสนับสนุนให้สมาชิกเอเปคดำเนินการตามแผนกลยุทธ์การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบู (Strategy of Implementation of Cebu Action Plan) อย่างต่อเนื่องซึ่งสมาชิกเอเปคสามารถเลือกดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ (Voluntary Basis) ให้เหมาะสมกับบริบทภายในของแต่ละเขตเศรษฐกิจ โดยไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย ทั้งนี้ ที่ประชุมขอให้องค์กรระหว่างประเทศและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ภายใต้เอเปค (APEC sub-fora) ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคเพื่อสนับสนุนให้การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบูของสมาชิกเอเปคมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ยิ่งขึ้น
3. ในการประชุม APEC FMM ครั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือใน 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
3.1 การลงทุนระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐาน (Long - term Investment in Infrastructure) เนื่องจากเห็นว่าการมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและเพียงพอจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และเห็นว่าบทบาทของภาคเอกชนในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานผ่านการดำเนินโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) เป็นสิ่งจำเป็นจึงต้องมีการดำเนินการจัดสรรความเสี่ยงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้เหมาะสม มีการนำเครื่องมือในการลดความเสี่ยงมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนในการเข้าร่วมลงทุน นอกจากนี้ สมาชิกเอเปคยินดีที่จะร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการศึกษาถึงแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อยกระดับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพในภูมิภาคเอเปค
3.2 การป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไรไปต่างประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) โดยเห็นว่าการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายภาษีและการยกร่างกฎหมายเพื่อรับมือกับปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศโดยเฉพาะ BEPS มีความจำเป็น นอกจากนี้ สมาชิกเอเปคยินดีที่จะร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับ Inclusive Framework ซึ่งเป็นกลไกในการนำมาตรฐานขั้นต่ำ (Minimum Standards) ของแผนปฏิบัติการภายใต้ BEPS มาประยุกต์ใช้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน และสมาชิกเอเปคจะผลักดันความร่วมมือในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องในปี 2561 พร้อมทั้งยินดีที่องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ จะให้การสนับสนุนสมาชิกเอเปคในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ BEPS
3.3 การบริหารความเสี่ยงและการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Financing and Insurance) โดยการพัฒนากรอบด้านกฎหมายและสถาบันเกี่ยวกับการประกันภัยมีความสำคัญต่อการดำเนินการเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการจัดการกับภาระผูกพันของรัฐบาล (Contingent Liabilities) ที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยงทางภัยพิบัติ เพื่อที่จะได้ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติในอนาคตและจัดเตรียมกลไกทางการเงินเพื่อรองรับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว พร้อมทั้งยินดีที่องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้และได้ร่วมกับสมาชิกเอเปคศึกษาถึงแนวทางที่เหมาะสมเพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติ
3.4 การเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) โดยสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างสมาชิกเอเปคและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการบริการทางการเงินอย่างยั่งยืนและทั่วถึงในภูมิภาค โดยเฉพาะการสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินในภาคเกษตรกรรมและชนบท อาทิ การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินของทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ การพัฒนาระบบการชำระเงินดิจิทัล และการส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงิน เป็นต้น เพื่อยกระดับการให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้
4. การประชุม ABAC's Executive Dialogues with APEC Finance Ministers เป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ผู้แทนระดับสูงจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) และผู้บริหารจากภาคเอกชน เพื่อหารือในประเด็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งที่ประชุมสนับสนุนให้เพิ่มระดับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคเอเปคผ่านการร่วมลงทุนของภาคเอกชน(PPP) พร้อมทั้งพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อรองรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำบทบาทที่สำคัญของเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) เพื่อให้การเข้าถึงบริการทางการเงินเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีเสถียรภาพมากขึ้นโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล
5. การประชุมทวิภาคี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีการหารือทวิภาคีกับนาย Paul Chan Mo-Po รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง นาย David R. Malpass ปลัดกระทรวงการคลังด้านกิจการระหว่างประเทศ (Under Secretary for International Affairs) ของสหรัฐอเมริกา และนาย Scott Morrison รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของออสเตรเลีย โดยได้แลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจระหว่างกัน โดยส่วนใหญ่แสดงความชื่นชมและยินดีที่ประเทศไทยมีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แจ้งว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ตามที่คาดหวัง ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งในด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศ เพื่อยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อไป
ทั้งนี้ การประชุม APEC FMM ครั้งที่ 25 จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2561 ณ ประเทศปาปัวนิวกินี
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3613
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit