ดร.มุจลินทร์ ผลกล้า อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ให้บริการวิชาการแก่ชาวชุมชนเกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา ในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "การพูดเพื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์" เมื่อเร็วๆ นี้ว่า วัตถุประสงค์เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนในชุมชน ด้วยการนำศาสตร์ภาษาไทยที่ทางโปรแกรมฯ มีความเชี่ยวชาญไปถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้าน เพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนาทักษะด้านการประชาสัมพันธ์สินค้าที่มีอยู่ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสนองพันธกิจของมหาวิทยาลัยในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเมื่อได้คลุกคลีกับชาวบ้านในพื้นที่ สิ่งที่ได้รับกลับคืนมานั้นยิ่งใหญ่มาก ทั้งความรู้ มิตรภาพ ความจริงใจ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกื้อกูลกันระหว่างความรู้ในเชิงวิชาการกับภูมิปัญญาชาวบ้าน เรามีในสิ่งที่เขายังไม่มี ขณะเดียวกันเขาก็มีในสิ่งที่เราไม่เคยมี
ดร.มุจลินทร์ กล่าวว่า คณาจารย์โปรแกรมวิชาภาษาไทยลงพื้นที่เกาะยอรวม 5 ครั้ง เพื่อสำรวจพื้นที่และสอบถามความต้องการของชุมชน สำหรับนำมาเป็นข้อมูลในการบริการวิชาการที่ตรงกับความต้องการของชาวเกาะยอให้มากที่สุด ซึ่งวิถีชีวิตของคนที่นี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย จากทรัพยากรบวกกับภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิม สิ่งที่พวกเขาต้องการคืออยากให้สินค้าขายดีและมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในการอบรมฯ คณะผู้จัดงานจึงพยายามให้คนในชุมชนได้ประโยชน์มากที่สุด ทั้งในแง่ความรู้จากการบรรยายของมืออาชีพด้านการเขียนสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ อ.กีรกิต จิตสมบูรณ์ และฝึกเขียนงานโฆษณาสินค้าตนเองด้วย นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้ชาวเกาะยอฝึกจัดรายการวิทยุกับ อ.ปิยกุล บุญญาศรีรัตน์ นักจัดรายการวิทยุมืออาชีพของมหาวิทยาลัย ซึ่งหลังการอบรมเสร็จสิ้นมีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมอบรมจากแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ มาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผ่านรายการช่อเสลา ทางสถานีวิทยุเพื่อการศึกษา มรภ.สงขลา 105.75 MHz.
"จากกระบวนการดังกล่าวสิ่งที่ได้ฝึกอบรมมาจึงไม่สูญเปล่า เสียงของคุณลุงทั้ง 4 ท่านซึ่งเป็นตัวแทนชุมชนได้บอกเล่าเรื่องราวผลิตภัณฑ์ของดีเกาะยอ ประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักท่องเที่ยวด้วยชั้นเชิงภาษาที่สร้างสรรค์ ถ่ายทอดไปทั่วทั้ง จ.สงขลา ที่กำลังรับฟังผ่านทางรายการวิทยุ พร้อมแพร่ภาพสดทาง facebookเช่นเดียวกับที่เกาะยอ ชาวบ้านที่รอดูสมาชิกของชุมชนออกรายการอยู่ที่ด้วยความภาคภูมิใจ เมื่อผลิตภัณฑ์ของตนได้ออกสื่อ ผ่านการรับรู้ของโลกภายนอก" อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาภาษาไทย กล่าวและว่า
นอกจากบริการวิชาการแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการทำวิจัยร่วมด้วย ดังนั้น ตนจะกลับไปทำวิจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยขณะนี้ทางโปรแกรมฯ ได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจำนวน 2 เรื่องคือ การศึกษาสารสนเทศชุมชนเพื่อพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ชุมชนเกาะยอ จ.สงขลา โดยมี ดร.มุจลินทร์ ผลกล้า เป็นหัวหน้าโครงการ และ การศึกษาแนวทางการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวตลาดวัฒนธรรมวิถีชุมชนในพื้นที่ อ.ละงู จ.สตูล ที่มี อ.ณทรัตน์จุฑา ไชยสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งโครงการวิจัยทั้ง 2 เรื่องถือเป็นมิติใหม่ของคณาจารย์โปรแกรมวิชาภาษาไทยที่จะได้ขยายพื้นที่บริการวิชาการและการวิจัยไปพร้อมๆ กัน
ด้าน อ.สร้อยสุดา ไชยเหล็ก อาจารย์โปรแกรมวิชาภาษาไทย อีกคนหนึ่ง ซึ่งร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า ชุมชนเกาะยอมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติและความคิดสร้างสรรค์ โดยได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นมาหลายกลุ่ม นำสิ่งที่มีอยู่มาแปรรูปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ด้วยชาวบ้านที่นั่นมีความเป็นปราชญ์ทางภูมิปัญญาอยู่แล้ว พวกเขามีผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง เช่นเดียวกับที่ทางโปรแกรมฯ มีอาจารย์ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในศาสตร์ของการพูด การเขียนเพื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ซึ่งตรงกับความต้องการของชาวบ้านที่ต้องการให้สินค้าของตัวเองขายดีเป็นที่รู้จักมากขึ้น
อ.สร้อยสุดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เกาะยอเป็นเกาะกลางทะเลสาบตอนล่าง ถูกจัดเป็นตำบลหนึ่งใน จ.สงขลา ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่สำคัญในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำทะเลสาบสงขลา อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติทั้งพรรณไม้นานาพันธุ์ และมีทะเลเพื่อการดำรงชีพ ที่สำคัญคือ ชาวบ้านชุมชนเกาะยอมีอาชีพที่เกิดจากการดำรงไว้ซึ่งภูมิปัญญาหลายแขนง เช่น ผ้าทอเกาะยอที่มีลวดลายเป็นเอกลักษมณ์ของตน และยังได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ราชวัตถ์"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit