นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2561 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงาน โดยใช้หลักคิด "9 สมดุล สู่ความเป็นเลิศของภารกิจส่งเสริมการเกษตร" หรือ Balance DOAE เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Smart Agricultural Curve ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นปีแห่งการพัฒนาคนและยกระดับการบริหารจัดการในภาคเกษตรทั้งในส่วนของบุคลากรและเกษตรกร โดยให้มีศูนย์กลางหรือระบบการเรียนรู้และบ่มเพาะความรู้ ทักษะต่างๆ ภายในหน่วยงาน จัดทำในลักษณะ Unit School เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมของคนในภาคเกษตรสำหรับรองรับการเกษตร 4.0 ประกอบด้วย 9 เรื่องหลัก ดังนี้ 1) งานส่งเสริมการเกษตรต้องแสดงออกถึงความเป็นตัวตนที่ชัดเจน ในลักษณะการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ (Function) ที่แท้จริง สามารถจำแนกและผลักดันให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม วัดผล และตรวจสอบได้ 2) การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรต้องมีการติดตามผลการดำเนินงานโดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จของขั้นตอนการดำเนินงาน (Milestone) กำหนดเป้าหมายของการส่งเสริมและพัฒนาให้ชัดเจน และสามารถวัดผลได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ 3) งานตามนโยบาย (Agenda) ที่มีเป้าหมายพัฒนาด้านการเกษตรต้องดำเนินการควบคู่กับงานตามบทบาทหน้าที่ของกรม โดยเน้นต่อยอดและขยายผลการพัฒนาให้ครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้น 4) การส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรในระดับพื้นที่ (Area Base) ต้องนำงานตามนโยบายและงานตามบทบาทหน้าที่มากำหนดเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ โดยใช้เกษตรกรเป็นตัวตั้ง วางเป้าหมายให้ชัดเจน สามารถตรวจสอบและวัดผลได้ 5) นักส่งเสริมการเกษตรจะต้องสร้างสมดุลในมิติของงานด้านส่งเสริมการเกษตรกับการพัฒนาสมรรถนะและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร 6) สร้างสมดุลของการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตรโดยมุ่งยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร 7) การขับเคลื่อนพัฒนาด้านการเกษตรผ่านระบบส่งเสริมการเกษตร มุ่งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมต่างๆ มาปรับใช้ให้เกิดความสมดุลกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการเกื้อหนุนและสามารถต่อยอดการพัฒนาการเกษตรสู่เกษตร 4.0 อย่างมั่งคั่งและยั่งยืน 8) ผลประกอบการด้านการเกษตรต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมและสมดุลระหว่างต้นทุนและผลตอบแทนที่คุ้มค่า ก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน 9) พัฒนาและส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายวัฒนธรรมอันดีงาม ทรัพยากรธรรมชาติ และไม่ทำลายภูมิปัญญาท้องถิ่น มุ่งสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นองค์กรที่มีคนอยู่ทั่วทุกทิศ เป็นมิตรแท้ของเกษตรกร จะยึด "เกษตรกรเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และพื้นที่เป็นเป้าหมายการปฏิบัติงาน" โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ที่เกิดกับเกษตรกรเป็นหลัก มีการกำหนดพื้นที่ดำเนินการที่ชัดเจน มองภาพ "พื้นที่-คน-สินค้า" เข้าด้วยกัน ดำเนินการแบบเบ็ดเสร็จตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยมองให้ครอบคลุมทุกมิติทั้งชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความสมดุล มั่นคง และยั่งยืนสืบไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit