จุดหมายปลายทางสู่การเรียนรู้ของเยาวชนในครั้งนี้คือ จังหวัดชลบุรีและระยอง ที่ไม่เพียงเป็นแหล่งท่องเที่ยว เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมที่สำคัญ แต่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุ์พืช และสัตว์จำเพาะ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานเทคโนโลยีสารสนเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมไทยโชต สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และแหล่งการเรียนรู้ทางด้านอวกาศ Space Inspirium ถือเป็นแหล่งทรัพยากรความรู้ชั้นดีให้เยาวชนในโครงการฯ เข้าไปศึกษา วิเคราะห์และนำมาบริหารความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างสมดุลแก่ประเทศชาติ
นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เผยว่า "ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องที่บ้านปูฯ เน้นย้ำและให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องผ่านการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และค่ายเพาเวอร์กรีน เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Policy) และนโยบายความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Policy) ของเรา เพื่อใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการและป้องกันไม่ให้กิจกรรมของบริษัทฯ สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เราได้ต่อยอดนำองค์ความรู้มาสู่เยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติ เพื่อให้พวกเขาได้เห็นถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และนำความรู้ที่ได้รับไปเปลี่ยนแปลงและพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมรักษาคุณค่าทางระบบนิเวศควบคู่กับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของบ้านปูฯ ที่ว่า "พลังความรู้คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา"
ในค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 12 เยาวชนทั้ง 70 คน มีโอกาสได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเกี่ยวกับในหัวข้อต่างๆ เช่น คุณค่าและการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์พืชในพื้นที่ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน การประยุกต์ใช้การสำรวจระยะไกลเพื่อการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน จากคณะอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมรับฟังเสวนาพิเศษในหัวข้อ "ความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชนในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมบนฐานการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน" กับนักธุรกิจที่มีความสนใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืดในประเทศไทย และคุณออย อิษฏ์วรรณ สุทธินาค เจ้าของแบรนด์แฟชั่นผู้สร้างความสมดุลระหว่างธุรกิจ ธรรมชาติ และความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านบริษัททัวร์เชิงอนุรักษ์ Suntan Tour ที่ให้ชาวมอร์แกนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมเป็นทีมงานเพื่อช่วยสร้างอาชีพและส่งเสริมการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชาวมอร์แกน
นอกจากนี้ หนึ่งในจุดหมายสำคัญของการเดินทางไปยังจังหวัดชลบุรีและระยอง คือ พื้นที่กลุ่มประมงเรือเล็กปากคลองตากวน และ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทในเครือของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ที่เป็นตัวอย่างการอยู่ร่วมกันระหว่างการดำเนินธุรกิจ ชุมชน และความหลากหลายทางชีวภาพที่สมดุล
นายแดง บุตรบุญอินทร์ ตัวแทนกลุ่มชุมชนประมงเรือเล็กปากคลองตากวน เผยว่า "ในอดีต การทำประมงเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ของกลุ่มเป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น แต่หลังจากได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ทางกลุ่มชุมชนได้รับองค์ความรู้ เงินทุนสนับสนุน และสามารถพัฒนาต่อยอดการทำประมงเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่จนเป็นอาชีพหลัก หาเลี้ยงปากท้องแก่ทุกคนในชุมชนได้อย่างประสบความสำเร็จ ปัจจุบันชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การดำเนินธุรกิจของโรงไฟฟ้าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเรา ต่างฝ่ายต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน"
รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน 12 กล่าวว่า "ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การเริ่มปลูกฝังความรู้ทางด้านนี้ให้แก่เยาวชนผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไปในอนาคตถือเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับการพัฒนาประเทศ ในปีนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำคณะอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมมาให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแก่เยาวชน เพื่อจุดประกายจิตสำนึกและให้ความรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ อีกทั้งยังหล่อหลอมกรอบความคิดที่เป็นระบบและสร้างสรรค์ ฝึกการตีโจทย์และแก้ปัญหา อันจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมทางความคิดต่อไปในอนาคต สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในทุกมิติได้อย่างยั่งยืน"
หลังการเรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแล้ว เยาวชนได้นำเสนอโครงการกลุ่ม ซึ่งโครงงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1ได้รับทุนการศึกษามูลค่า 10,000 บาท คือ โครงงาน "แอปพลิเคชันเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ SEAN" เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้แก่นักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่อุดมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นทุกปี โดยแอปพลิเคชันจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวและ ความหลากหลายทางชีวภาพ นำมาแสดงให้ผู้ใช้ได้ทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมได้รับคะแนนสะสมเพื่อนำไปแลกรางวัลต่อไป นอกจากนี้ แอปพลิเคชันยังแสดงข้อมูลเกี่ยวกับที่พักและของฝากประจำท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาพรวมของภูเก็ตอีกด้วย
นางสาวนภัสสร ปิ่นแก้ว หรือ ซอ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ตัวแทนทีมชนะเลิศ กล่าวถึงความรู้สึกเกี่ยวกับค่ายว่า "รู้สึกดีใจและสนุกมากๆ ที่ได้เข้าร่วมค่ายนี้ ค่ายเพาเวอร์กรีนเป็นค่ายที่แตกต่างจากค่ายทั่วไปเพราะมีการส่งเสริมให้เรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ให้นักเรียนที่เข้าร่วมได้มีโอกาสไปเรียนรู้และสัมผัสกับความหลากหลายทางชีวภาพ เดิมเป็นคนที่ชอบธรรมชาติอยู่แล้ว ค่ายนี้จึงตอบโจทย์ความชอบได้ตรงใจ ตอนแรกคิดว่าหัวข้อค่ายในปีนี้จะยากและไกลตัว แต่จริงๆแล้วเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวควรให้ความสำคัญ และถือเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ในการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและอนุรักษ์ไว้เป็นหน้าที่ของเราทุกคนเพื่อความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"
HTML::image( HTML::image(