กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงกรณีรัฐบาลไทยเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ พร้อมดูแลผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน

02 Nov 2017
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงกรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ยื่นให้ประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศว่า สืบเนื่องจากประชาชนมีการร้องเรียนและคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำมาเป็นเวลานานว่า อาจทำให้สิ่งแวดล้อมปนเปื้อน เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และอาจส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยชุมชนในระยะยาว หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงมีคำสั่งที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ให้ระงับการอนุญาตและการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว รวมทั้งกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดและจัดให้มีมาตรการเยียวยา แก้ไขผลกระทบด้านต่าง ๆ

บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด (คิงส์เกต) ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ อ้างว่าได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ดังกล่าว จึงได้ยื่นหนังสือขอปรึกษาหารือกับรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 โดยอาศัยสิทธิตามความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA) ซึ่งอนุญาตให้บริษัทเอกชนของประเทศคู่ค้ามีสิทธิยื่นคำขอปรึกษาหารือเพื่อเจรจาได้โดยตรงกับประเทศคู่ภาคี และล่าสุดคิงส์เกตได้ใช้สิทธิดังกล่าว ยื่นให้คิงส์เกตและประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าคณะ และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น เพื่อเจรจาและหาข้อยุติอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคณะกรรมการฯ ดำเนินการเจรจาโดยยึดหลักการคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน รวมทั้งให้ความเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้อง โดยให้สอดคล้องกับกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการแร่ทองคำใหม่ และพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ ที่รัฐบาลได้ยกร่างขึ้นและมีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้ กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการแร่ทองคำใหม่และพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่มุ่งหวังให้การทำเหมืองแร่ชนิดต่าง ๆ รวมทั้งเหมืองแร่ทองคำ สนองตอบแนวนโยบายของรัฐในอันที่จะสร้างสมดุลแห่งประโยชน์อันเกิดจากการทำเหมืองทั้งด้านสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้คุ้มค่า และกระจายผลประโยชน์จากการขุดค้นทรัพยากรของชาติให้เป็นธรรม เกื้อหนุนการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำใหม่และพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่นี้ จะทำให้การบริหารจัดการ และการกำกับดูแลการดำเนินกิจการเกี่ยวกับแร่ทองคำและแร่อื่น ๆ ของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และรัดกุมมากขึ้นกว่าในอดีต

กระทรวงอุตสาหกรรมขอยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาอย่างเคร่งครัด รวมถึงการเตรียมการสำหรับการระงับข้อพิพาทตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

การเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ซึ่งมีลักษณะเป็นการหาข้อยุติโดยคณะบุคคลที่สามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันและยอมรับตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในกระบวนการอนุญาโตตุลาการนี้ ทั้งสองฝ่ายยังสามารถดำเนินการเจรจาเพื่อหาข้อยุติที่ยอมรับร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยังไม่ได้ยอมรับข้อเรียกร้องของคิงส์เกตอย่างใดทั้งสิ้น