นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน เพื่อควบคุมและตัดวงจรการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวไม่ให้แพร่ระบาดไปยังพื้นที่แห่งใหม่และพืชชนิดอื่น ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ 29 จังหวัด โดยกำหนดเป็นมาตรการ 5 มาตรการ ดังนี้ 1. มาตรการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วม 2. มาตรการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน 3. มาตรการทางกฎหมาย 4. มาตรการเฝ้าระวังและสำรวจ และ 5. มาตรการสร้างสวนใหม่ทดแทนและปลูกพืชหลากหลาย ซึ่งมาตรการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสานดังกล่าว นอกจากจะใช้ชีววิธีในการจัดการศัตรูพืชแล้ว ยังมีการใช้สารเคมี emamectin benzoate 1.92 % EC ฉีดเข้าลำต้นมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร อีกด้วย ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร จึงจัดงาน "วันปฏิบัติการกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีฉีดสารเคมีเข้าต้น" ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 ณ แปลงนายธีระชาติ ถนอมสัตย์ หมู่ 8 ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวและเกษตรกรทั่วไปรับทราบข้อมูล ขั้นตอนเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีฉีดสารเคมีเข้าลำต้น และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และกำหนดเป็นวันเริ่มปฏิบัติงานการใช้สารเคมีฉีดเข้าลำต้นพร้อมกันทุกจังหวัดในพื้นที่เป้าหมาย โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย เกษตรกร ทีมปฏิบัติการฉีดสารเคมี เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 300 คน กิจกรรมภายในงาน ได้แก่ นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับสารเคมี emamectin benzoate 1.92 % EC และการออกฤทธิ์ นิทรรศการแสดงขั้นตอนและวิธีการเบิกจ่ายสารเคมีสำหรับทีมปฏิบัติการ นิทรรศการแสดงอุปกรณ์เครื่องมือ พร้อมการสาธิตวิธีการเจาะและฉีดสารเคมีเข้าต้น พิธีมอบสารเคมีให้กับทีมปฏิบัติการและปล่อยขบวนรถคาราวานลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสารเคมีที่ใช้ฉีดเข้าต้นในครั้งนี้คือ emamectin benzoate 1.92 % EC ใช้ในอัตรา 30 ซีซี ต่อต้น กับต้นมะพร้าวที่มีความสูงเกิน 12 เมตร ยกเว้นมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวกะทิ ซึ่งสารเคมีดังกล่าวกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้ และมีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวได้ประมาณ 3 เดือน และผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบสารพิษตกค้าง ในตัวอย่างเนื้อและน้ำมะพร้าวภายหลังทดลองใช้ 90 วัน เพราะฉะนั้นพี่น้องเกษตรกรจึงไม่ต้องเป็นห่วง สำหรับทีมปฏิบัติการฉีดสารเคมีทุกคนได้ผ่านการอบรมวิธีการเจาะการฉีดสารเคมีมาแล้วทุกคน ก็ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การดำเนินงานครั้งนี้บรรลุเป้าหมาย สำหรับต้นมะพร้าวที่มีความสูงต่ำกว่า 12 เมตร รวมทั้งมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวกะทิ จะใช้วิธีฉีดพ่นสารเคมีทางใบ และใช้แตนเบียนบราคอนควบคุมประชากรของหนอนหัวดำในระยะต่อไป จึงขอฝากถึงพี่น้องเกษตรกรทั้งหลายว่า การต่อสู้กับหนอนหัวดำในครั้งนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายได้ร่วมมือร่วมใจกับศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ในการติดตามและเฝ้าระวังการระบาดของหนอนหัวดำอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง จึงจะสามารถควบคุมประชากรของหนอนหัวดำให้อยู่ในระดับที่ไม่ทำลายผลผลิตมะพร้าวให้เสียหายได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit