นายสลิต หาญอาสา ประธานโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนตำบลหลุบคา อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ เปิดเผยว่า ตำบลหลุบคา มีพื้นที่สาธารณะประโยชน์ว่างเปล่า อยู่เดิม จำนวน 9 ไร่ บริเวณบ้านหลุบคา หมู่ที่ 1 ซึ่งบางส่วนเป็นป่าเสื่อมโทรม และเป็นที่ ฌาปนกิจศพ (ป่าช้า) ประชาชนใน 10 หมู่บ้าน ทางชุมชนและหน่วยงานราชการ จึงหารือกันที่จะนำพื้นที่ดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการพัฒนาปรับปรุงเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนตามแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้เริ่มโครงการเมื่อปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา แต่การดำเนินการดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากยังขาดแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ ที่ครบวงจร ประชาชนหลายรายไม่สามารถนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ได้ เนื่องจาก ปัจจัยพื้นฐาน ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรไม่เหมือนกัน เกษตรกรยังประสบปัญหาหนี้สินอยู่มาก
ต่อมารัฐบาลมีโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ลงมายังพื้นที่ต่าง ๆ ทางศูนย์เรียนรู้ฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาทั้งสิ้น 2.5 ล้านบาท เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชน ด้วยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงมาประยุกต์ใช้และส่งเสริมให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ตำบลหลุบคา รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชน และเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ภาคการเกษตรของชุมชนมีส่วนร่วมแบบประชารัฐอย่างยั่งยืน
โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ของ ต.หลุบคา ได้มีการแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 กิจกรรมคือ 1.กิจกรรมในศูนย์การเรียนรู้ฯ ใช้งบประมาณ จำนวน 2 ล้านบาท โดยการจัดสัดส่วนที่ทั้ง 9 ไร่ ออกเป็น แปลงปลูกข้าวไรท์เบอรี่ พร้อมเลี้ยงปลาในแปลงนา แปลงปลูกกล้วย พื้นที่เลี้ยงสัตว์ เช่น หมูหลุม ไก่ไข่ พื้นที่ทำปุ๋ยอินทรีย์ เรือนเพาะเห็ดนางฟ้า เรือนเพาะชำกล้าไม้ สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชนที่สมบูรณ์แบบและครบวงจร ซึ่งผลผลิตที่ได้จากศูนย์เรียนรู้แห่งนี้
ก็ส่งต่อไปให้กลุ่มแม่บ้านแปรรูปเป็นอาหาร 2. กิจกรรมการแปรรูปอาหารปลาร้าบอง ได้งบประมาณจำนวน 3 แสนบาท ดำเนินการโดยกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งจะนำผลผลิตที่ได้จากศูนย์เรียนรู้ไปทำการแปรรูป เพื่อนำมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม และ 3. โครงการแปรรูปอาหารจากผลผลิตทางการเกษตร ที่ เช่น ปลาส้ม ไข่เค็ม กล้วยฉาบ ขนมดอกจอก ขนมปั้นสิบ เป็นต้น จำนวน 2 แสนบาท ซึ่งเป็นผลผลิตจากศูนย์เรียนรู้ฯ " โครงการ 9101 ตามรอยพ่อฯ เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง และสร้างความยั่งยืน สร้างความรักสามัคคีให้ชุมชน ต.หลบคาอย่างมาก มีเกษตรกรได้ประโยชน์มากกว่า 1,000 ราย มีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้ง ด้านการเกษตรอินทรีย์ ด้านการปศุสัตว์ และ ด้านการประมง ประชาชนทั่วไปสามารถศึกษาและเรียนรู้และน้อมนำไปปฏิบัติต่อตนและครัวเรือนได้"
นายสมจิตร ธีระบุญชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 7 จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน เป็นโครงการที่ มติ ครม.ให้ดำเนินการ ในพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์ฯ ทั้ง 8 จังหวัดอีสานใต้ มีจำนวน 1,650 ชุมชน รวมกว่า 2,800 โครงการ รับงบประมาณมาทั้งหมดประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเจตนาของรัฐบาลคือต้องการสนับสนุนงบประมาณให้เกษตรกรกรนำไปพัฒนาอาชีพในชุมชนของตนเองอย่างยั่งยืน โดยจัดสรรให้ชุมชนละประมาณ 2.5 ล้านบาท ขณะนี้ทุกโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปทั้งหมดแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560ในระยะที่ 1 จากนี้ไปจะเป็นการขยายผลให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป ทุกโครงการต้องเกิดจากแนวคิดของประชาชนในชุมชนเอง ทุกโครงการมีความโปรงใส่ตรวจสอบได้
สำหรับจังหวัดชัยภูมิ ได้ดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี ภายใต้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 16 ศูนย์ โดยจัดแบ่งพื้นที่ชุมชนเพื่อบริหารการด้านการเกษตร 155 ชุมชน ดำเนินโครงการทั้งหมด 292 โครงการ งบประมาณ 387,286,900 บาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 170,076 ราย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit