ปภ.วางมาตรการเชิกรุก เตรียมพร้อมป้องกันอุบัติภัย สร้างความปลอดภัยสูงสุดช่วงวันลอยกระทง

31 Oct 2017
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมป้องกันอุบัติภัยในช่วงวันลอยกระทงเชิงรุกโดยเข้มงวดการผลิต จัดเก็บและจำหน่ายพลุ และดอกไม้เพลิง พร้อมดำเนินมาตรการป้องกันอันตรายจากการจุดพลุ ปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควันอย่างเคร่งครัด ตรวจตราสถานที่จัดงานลอยกระทงให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ควบคู่กับการจัดชุดกู้ภัยทางน้ำ และจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ พร้อมบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัดและคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว อุปกรณ์ดับเพลิง รถดับเพลิง และอุปกรณ์กู้ภัยให้พร้อมปฏิบัติการระงับเหตุเพลิงไหม้ อีกทั้งกำหนดจุดในการปล่อยโคมลอย เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการบินและอันตรายต่ออากาศยาน ตลอดจนคุมเข้มการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของสถานที่จัดงาน เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากอุบัติภัยช่วงวันลอยกระทง

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า วันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 ตรงกับวันลอยกระทง ซึ่งหลายพื้นที่มีการจัดงานลอยกระทงตามประเพณีบริเวณพื้นที่ริมน้ำ โดยมีการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง และการปล่อยโคมลอย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย ประกอบกับประชาชนจำนวนมากเดินทางไปร่วมงานลอยกระทง อาจทำให้ได้รับอันตรายจากอุบัติภัยทางน้ำ และอุบัติเหตุทางถนน รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยความปลอดภัยของประชาชน จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมป้องกันอุบัติภัยและสร้างความปลอดภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงเชิงรุก ดังนี้ มาตรการป้องกันอุบัติภัยจากพลุ ดอกไม้เพลิง โดยเข้มงวดกวดขันการพิจารณาออกใบอนุญาต หรือต่ออายุใบอนุญาตให้ผลิต สั่ง นำเข้า และจำหน่ายพลุ ดอกไม้เพลิง พร้อมตรวจสอบสถานที่จัดเก็บ ผลิต และจำหน่ายพลุ ดอกไม้เพลิงให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงดำเนินมาตรการป้องกันอันตรายจากการจุดพลุ ปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควันตามคำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างเคร่งครัด ตลอดจนจัดพื้นที่ในการจุดพลุ ดอกไม้เพลิงให้มีความปลอดภัย มาตรการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ ตรวจสอบสถานที่จัดงานลอยกระทง โป๊ะ ท่าเทียบเรือ เรือโดยสาร และจุดเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย รวมถึงสนธิกำลังจัดชุดกู้ภัยทางน้ำ และจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งานประจำจุดเสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำได้อย่างทันท่วงที มาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน โดยประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดตั้งจุดตรวจ เพื่อจัดระเบียบการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนโดยบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด พร้อมคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนใน 10 มาตรการ ดังนี้ ไม่สวมหมวกนิรภัย มอเตอร์ไซด์ไม่ปลอดภัย เมาสุรา ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่มีใบขับขี่ ขับรถเร็ว ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร ขับรถย้อนศร แซงในที่คับขัน และใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ มาตรการป้องกันอัคคีภัย จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว อุปกรณ์ดับเพลิง รถดับเพลิง อุปกรณ์กู้ภัย และไฟส่องสว่างประจำสถานที่จัดงานลอยกระทงและบริเวณที่มีการจุดพลุ และดอกไม้เพลิง เพื่อให้สามารถระงับเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างรวดเร็ว มาตรการป้องกันอุบัติภัยอื่นๆ โดยกำหนดจุดในการปล่อยโคมลอย ลูกโป่งสวรรค์ การยิงลำแสงเลเซอร์ และการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ที่มีความปลอดภัย อยู่ห่างจากบริเวณท่าอากาศยาน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการบินและอันตรายต่ออากาศยาน มาตรการดูแลความปลอดภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของสถานที่จัดงาน อาทิ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัย พร้อมตรวจสอบความปลอดภัยและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของสถานที่จัดงานลอยกระทง อีกทั้งเตรียมความพร้อมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อดูแลรักษาและส่งต่อผู้บาดเจ็บได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่ ตลอดจนเข้มงวดกวดขันการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะบริเวณสถานที่จัดงาน เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากอุบัติภัยช่วงวันลอยกระทง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้วาระ "ประเทศไทยปลอดภัย (Safety Thailand)" และยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของเทศกาลวันลอยกระทงให้อยู่คู่สังคมไทยสืบไป