พลังจิตอาสา สจล. ใช้เทคโนโลยีผสานบริหารจัดการดีเยี่ยม บริการประชาชนกว่า 16,000 คน ในงานถวายดอกไม้จันทน์ พระเมรุมาศจำลอง ณ สจล.

13 Nov 2017
ในวันประวัติศาสตร์ 26 ตุลาคม 2560 ที่คนไทยทั่วประเทศต่างรวมใจส่งเสด็จสู่ฟ้าเสวยสวรรค์ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างสมพระเกียรติ ยังมีเรื่องราวดีๆที่น่าศึกษาจากโมเดลของงานถวายดอกไม้จันทน์พระเมรุมาศจำลอง บริเวณสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้รับเสียงชื่นชมในประสิทธิภาพ รู้จักใช้เทคโนโลยีผสมผสานการวางแผนจัดระบบและบริการประชาชนที่มาร่วมงานกว่า 16,000 คนได้ดีเยี่ยม นับเป็นตัวอย่างของการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่และบริการประชาชนต่อไป สะท้อนถึงพลังจิตอาสาและความเป็นไทย ผสมผสานการใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะเจาะกับพื้นที่
พลังจิตอาสา สจล. ใช้เทคโนโลยีผสานบริหารจัดการดีเยี่ยม บริการประชาชนกว่า 16,000 คน ในงานถวายดอกไม้จันทน์ พระเมรุมาศจำลอง ณ สจล.

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า คงไม่มีงานในสถาบันครั้งไหนที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่างานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระเมรุมาศจำลอง ณ ลานหน้า สจล. ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 แห่งของพระเมรุมาศจำลอง ในกรุงเทพมหานคร จากการวิเคราะห์ลักษณะพื้นที่ ถนนหลักค่อนข้างแคบ มีถนนสายรองเชื่อมถึงกัน และมีสถานีรถไฟอยู่ติดกับ สจล. แสงแดดช่วงกลางวันมีความแรงร้อน คาดว่าประชาชนหลั่งไหลมากันเนืองแน่น สจล.ได้วางแผนแบ่งพื้นที่ สจล.ซึ่งมี 800 ไร่ ออกเป็น 4 โซน แต่ละโซนมีอาคาร เพื่อการรองรับประชาชนหลบแดดพักคอย และการจัดบริการให้ทั่วถึง คือ โซน A อยู่ใกล้มณฑลพิธีมากที่สุด มีอาคารเรียนรวมสมเด็จพระเทพฯ อาคาร EEC และสมาคมศิษย์เก่าสจล.และโรงทานกลาง โซน B โรงอาหารกิจกรรม โซน Cสำนักหอสมุดกลาง โซน D หอประชุมใหญ่สถาบัน แต่ละโซนมีจุดรับบัตรคิว และจุดพักคอย ด้านบุคคลากรบริการประชาชน เราได้รวมพลังจิตอาสาจากคณะอาจารย์ นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ รวม 2,000 คน ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี การถวายดอกไม้จันทน์ 2 ช่วง คือ ช่วง 9.00 -16.30 น. และช่วง 18.00 – 22.00 น.

ขั้นตอนการเข้าร่วมถวายดอกไม้จันทน์ เราได้ประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าและแก่ผู้ร่วมงานในงาน ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน คือ 1.จอดรถในบริเวณจุดจอดซึ่งจุได้ 2,200 คัน จากนั้นมารับบัตรคิว ซึ่งมี 4 โซนให้เลือกตามสะดวก คือ A B C D ซึ่งเปิดตั้งแต่ 6 โมงเช้า ประชาชนต้องแต่งกายสุภาพและนำบัตรประชาชนมาแสดงเพื่อรับบัตรคิว โดย 1 คน จะได้ 1 บัตรคิว 2.รอเรียกคิวตามหมายเลข เพื่อเข้าไปยังจุดรวมประชาชน A B C D สำหรับผู้สูงวัยและคนพิการรับบัตรคิวได้ที่ โซน A เนื่องจากการเดินจากจุดรวมประชาชน โซน B Cและ D ไปยังพื้นที่พิธีถวายดอกไม้จันทน์นั้น จะต้องขึ้น-ลงบันไดสกายวอล์คเพื่อข้ามถนน แต่จะมีรถรับส่งจากจุดรับบัตรคิวมาที่โซน A 3.ผู้สูงวัยและคนพิการที่ต้องใช้รถเข็น จะมีช่องทางด่วนให้เข้าที่โซน A โดยอนุญาตให้มีผู้ดูแลติดตามได้เพียง 1 ต่อ 1 เท่านั้น 4.เมื่อถึงคิวเรียกตามบัตรคิว ให้ประชาชนมาเข้าที่จุดรวมประชาชน ซึ่งจะมีน้ำดื่มและห้องน้ำบริการ (ในบัตรคิวจะแสดงหมายเลขคิว-โซนไว้ ) ในทุกๆจุดพัก มีโต๊ะประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะแจ้งลำดับคิวในการให้เข้าที่จุดรวมประชาชน 6.เมื่อออกจากพื้นที่พิธี จะมีรถรับ-ส่ง ไปยังจุดที่ประชาชนจอดรถไว้

การจัดระบบสื่อสารกับประชาชนกว่า 73,000 คน ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียผ่านไอโอที-สมาร์ทโฟนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ผู้เข้าร่วมงานแอดเข้ากรุ๊ป Line กลาง ""Kmitl26OCT"" ผู้รับบัตรคิวแล้วจะได้รับแจ้งข้อมูลผ่านไลน์เป็นระยะว่าล็อตบัตรคิวหมายเลขใดที่จะสามารถเข้าวางดอกไม้จันทน์ได้ในเวลาใด สำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้ไลน์ก็สามารถดูกำหนดเวลาของล็อตบัตรคิวได้จากจอแอลอีดีที่ติดตั้งในโซนนั้นๆ ดังนั้นผู้รับบัตรคิวแล้วไม่ต้องแกร่วอยู่ในแถวและยังสามารถวางแผนบริหารเวลาของตนเองที่เหลือก่อนถึงคิวไปทำภารกิจ ช้อปปิ้ง หรือกลับบ้านแล้วมาตอนใกล้คิว หรือ เลือกที่จะนั่งพักคอยในอาคารบริเวณงานก็ได้ มีน้ำและเครื่องดื่มบริการ

พลังจิตอาสา และการบริหารจัดการ ในระหว่างงานมีการปรับแก้ไขตามสถานะการณ์ และประสานกันระหว่างทีมงาน 4 โซน โดยเหล่าจิตอาสานักศึกษาและบุคลากรของ สจล. กว่า 2,000 คน ให้บริการอาหาร เครื่องดื่ม ยา ช่วยให้คำอธิบาย อำนวยความสะดวกและประชาสัมพันธ์ในแต่ละโซนและผ่าน Line เป็นระยะ ทำให้ประชาชนมีความสบายใจ คลายกังวล และไม่เคร่งเครียด วินจักรยานยนต์และรถสองแถวบริการประชาชนตลอดวัน สำหรับช่องทางถวายดอกไม้จันทน์ จากเดิมให้เข้าถวายครั้งละ 4 ช่อง ได้เพิ่มเป็น 20 ช่อง โดยช่วงเช้าปริมาณคนยังน้อยการถวายดอกไม้จันทน์เป็นไปอย่างรวดเร็ว ช่วงกลางวันใช้เวลานานขึ้นเนื่องจากมีผู้มาร่วมงานเนืองแน่น ส่วนช่วงกลางคืนมีความรวดเร็วขึ้นโดยผู้ถวายดอกไม้จันทน์คนสุดท้ายในเวลาประมาณ 22.00 น ตามเป้าหมาย เมื่อจบภารกิจพิธีอันยิ่งใหญ่เพื่อพ่อของแผ่นดิน เหล่าหนุ่มสาวจิตอาสานักศึกษา สจล.ได้ช่วยกันเก็บกวาด ทำความสะอาดสถานที่อย่างเรียบร้อย นับเป็นพลังแสดงความรักสามัคคีครั้งสุดท้ายที่ทุกคนต่างภาคภูมิใจและประทับไว้ในความทรงจำ

เสียงชื่นชมจากโซเชียลมีเดียท่วมท้น อาทิ เพจ Drama Addict เผยแพร่ว่า ""ป้าอยู่โซน D เดินอยู่แถวคณะวิศวะ สถาปัตย์ ได้เห็นน้องๆนักศึกษามาเป็นจิตอาสา ดูแลอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มา ตั้งแต่จุดเริ่มเข้าแถวจุดพักคอย ตลอดเส้นทางเดินไปพระเมรุมาศจำลอง เด็กๆมีหน้าตายิ้มแย้ม พร้อมตอบคำถามดูกระตือรือร้นตลอดเวลา แม้จะค่ำแล้วก็ตาม คำพูดที่คอยเป็นห่วง ท่าทีนอบน้อมต่อผุ้ใหญ่ ทำภาพพจน์ของมหาวิทยาลัยในสายตาป้า ดูดีมากทีเดียว นึกชมไปถึงอาจารย์ว่า สั่งสอนลูกศิษย์มาดีจริงๆ...อ่านแล้วรู้สึกภูมิใจแทนครูบาอาจารย์สถาบันแห่งนี้มากครับ""

ความเห็นจาก Jantarima P. ""ขอชื่นชมคณะผู้จัดงานทุกท่านเลยค่ะ การทำงานมีระเบียบ และดูออกว่ามีการวางแผน ซักซ้อมกันมาอย่างดี มีการประสานงานกันอย่างยอดเยี่ยม คุณสามารถประสานให้คนจาก 4 โซน เข้าวางดอกไม้จันทน์กันได้อย่างดี ม่ง่ายเลยจริงๆค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม อาจไม่คาดคิดว่าจะมีคนจำนวนมหาศาลเช่นนี้ สรุปจากการดูพระเมรุมาศจำลอง ที่ลาดกระบัง มีการจัดการที่ดีที่สุดค่ะ มีที่นั่งคอย สะดวกสบาย ห้องน้ำสะอาด อาหารบริบูรณ์ ขอบคุณนะคะ""

ผู้ใช้ชื่อ Lifeaspleasure แสดงความเห็นว่า ""ขอบคุณ สจล.ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ บุคคลากรเจ้าหน้าที่ในพระเมรุมาศ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาที่ช่วยเหลือให้ความสะดวก ทั้งด้านจัดคิวคน อาหารเครื่องดื่ม พยาบาล น้องๆมากันเป็นร้อยๆ และจิตอาสาที่รับ-ส่งคนไปยังจุดต่างๆ รู้สึกประทับใจ ที่ได้มาวางดอกไม้จันทน์ที่นี่ นะคะ ขอบพระคุณมากค่ะ""

สมาชิก pantip ให้ความเห็นว่า ""ผมชอบระบบจัดการคิวนะไปรับบัตรคิว และรอเรียกคิว ไม่ต้องยืนรอในแถว เค้าให้แอดไลน์กลุ่ม ซึ่งจะมีการแจ้งว่าตอนนี้เรียกคิวไหนให้ทราบตลอด ซึ่งผมว่าดีมาก จะไปนั่งพักผ่อนที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องยืนต่อให้เมื่อย ผมไปรับบัตรคิวตอนบ่าย เห็นว่าไม่ทันช่วงเช้า ก็ออกไปทานข้าวข้างนอกเลยคับ ดูคิวในไลน์เอา ช่วงเช้าคิวเดินช้าครับ คนตกค้างเยอะ รอบเย็นเหมือนจะปรับระบบใหม่ เรียกคิวได้ไวดี ""

HTML::image( HTML::image( HTML::image(